วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ประเทศไทย…ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับประเทศไทย / ADMIN - SJ (TONAN ASIA AUTOTECH)

เรียบเรียงข้อมูลโดย ADMIN / SJ (TONAN ASIA AUTOTECH)
ประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานนับพันปี มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในประเทศไทยของเรา เราได้รวบรวมความรู้รอบตัวเกี่ยวกับประเทศไทยไว้ให้ท่านได้ศึกษากันแล้ว ดังนี้
เรื่องทั่วไป
ชื่อทั่วไป : ประเทศไทย, เมืองไทย, ไทย (Thailand)
ชื่ออย่างเป็นทางการภาษาไทย : ราชอาณาจักรไทย
ชื่ออย่างเป็นทางการภาษาอังกฤษ : The Kingdom of Thailand
พระประมุข : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
หน่วยเงิน : บาท (THB)
เขตเวลา (Time Zone) : UTC+7 หรือ GMT+7 (เร็วกว่าเวลามาตรฐานกรีนนิช 7 ชั่วโมง)
รหัสโทรศัพท์ระหว่างประเทศ : 66 (การโทรศัพท์มายังประเทศไทยให้กด +66 ตามด้วยหมายเลขปลายทาง)
สัตว์ประจำชาติ : ช้าง
ดอกไม้ประจำชาติ : ดอกราชพฤกษ์ หรือดอกคูน (อีสาน) หรือ ดอกลมแล้ง (เหนือ)
ภาษาราชการ : ภาษาไทย (Thai)
ธงชาติ : เป็นธง 3 สี 5 แถบ โดยมีสีแดงอยู่แถบที่ 1 และแถบที่ 5 มีสีขาวอยู่แถบที่ 2 และแถบที่ 4 และมีสีน้ำเงินอยู่แถบที่ 3
พระมหากษัตริย์ไทยธงชาติไทยช้าง สัตว์ประจำชาติไทยดอกราชพฤกษ์ ดอกไม้ประจำชาติของไทย
ลักษณะทางภูมิศาสตร์
ทวีป : เอเชีย
อนุทวีป : เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พิกัดที่ตั้ง :
- ทิศเหนือ จรดเส้นรุ้ง 20 องศา 25 ลิบดา 30 ฟิลิบดา เหนือ
- ทิศใต้ จรดเส้นรุ้ง 5 องศา 37 ลิบดา
- ทิศตะวันออก จรดเส้นแวง 105 องศา 37 ลิบดา 30 พิลิบดา
- ทิศตะวันตก จรดเส้นแวง 97 องศา 22 ลิบดา ตะวันออก
พื้นที่ : ประเทศไทยมีพื้นที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร (198,115 ตารางไมล์) หรือ 320 ล้านไร่ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก อันดับ 12 ของทวีปเอเชีย และอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศอินโดนีเซียและประเทศพม่า
พรมแดน :
- ทิศเหนือ ติดกับประเทศพม่า และ สปป.ลาว จุดสูงสุดอยู่ที่ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
- ทิศใต้ ติดกับประเทศมาเลเซียและทะเลอ่าวไทย จุดต่ำสุดอยู่ที่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก ติดกับประเทศกัมพูชาและ สปป.ลาว จุดตะวันออกสุดอยู่ที่ อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี
- ทิศตะวันตก ติดกับประเทศพม่าและทะเลอันดามัน จุดตะวันตกสุดอยู่ที่ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
แผนที่ประเทศไทย
แผนที่ประเทศไทยและอาเซียน
ลักษณะภูมิศาสตร์แยกตามภาค
ภาคเหนือ เป็นพื้นที่สูง มียอดเขาสูงสลับซับซ้อนมากมาย มีเทือกเขาสำคัญคือเทือกเขาถนนธงชัย ซึ่งยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทยคือดอยอินทนนท์ (สูง 2,565 เมตรจากระดับน้ำทะเล) อยู่บนเทือกเขานี้ โดยตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคเหนือยังเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญหลายสาย เช่น แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน (แม่น้ำทั้ง 4 สายนี้รวมกันเกิดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา) แม่น้ำกก แม่น้ำรวก แม่น้ำสาย และแม่น้ำเมย เป็นต้น นอกจากนี้ภาคเหนือยังเป็นพื้นที่ป่าไม้ที่สำคัญของไทยด้วย
แผนที่ภาคเหนือ
แผนที่ภาคเหนือของไทย
 
ภูมิประเทศภาคเหนือ
ภูมิประเทศภาคเหนือเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่คนไทยนิยมเรียกสั้นๆว่าภาคอีสาน มีลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่สูงหรือที่ราบสูง  เรียกว่าที่ราบสูงโคราช มีภูเขาสูงอยู่ทั่วไป ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดของไทย ดินไม่ค่อยเหมาะสมต่อการเพาะปลูกมากนัก แต่กลับเป็นพื้นที่สามารถปลูกข้าวพันธุ์ดีที่สุดของไทย (ข้าวหอมมะลิ) ได้ผลผลิตดีที่สุด แม่น้ำสายสำคัญของภาคอีสานคือแม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำโขง
แผนที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แผนที่ภาคอีสานของไทย
 
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคอีสานแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญ
ภาคกลาง เป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ เรียกว่าพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญที่สุดของประเทศ และเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นอกจากแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วยังมีแม่น้ำป่าสัก (หรือแม่น้ำท่าจีน) เป็นแม่น้ำสายรองอีกด้วย ทำให้ภาคกลางมักไม่ประสบภาวะน้ำแล้ง
ภาคกลางของไทย
แผนที่ภาคกลางของไทย
 
ภาคกลางของไทย
ภาคกลางแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของโลก
ภาคใต้ มีพื้นที่เป็นทิวเขาสูงสลับที่ราบลุ่มและชายหาดทะเล เป็นแหล่งปลูกยางพาราที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยหมู่เกาะที่สวยงามทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน นอกจากอาชีพปลูกยางพาราและอาชีพบริการด้านการท่องเที่ยวแล้ว ประชากรในภาคใต้ยังประกอบอาชีพประมงและเหมืองแร่ด้วย
แผนที่ภาคใต้ของไทย
แผนที่ภาคใต้ของไทย
 
อ่าวมาหยา แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม
อ่าวมาหยา สถานที่เที่ยวยอดนิยม
ภาคตะวันออก พื้นที่ของภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ลักษณะผสมผสาน กล่าวคือทางฝั่งตะวันออกของภาคเป็นเทือกเขาสูง ซึ่งเป็นเส้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ตอนกลางของภาคเป็นที่ราบซึ่งเหมาะสมต่อการเพาะปลูก ผลผลิตหลักของพื้นที่ส่วนนี้คือผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุดและมะม่วง เป็นต้น ส่วนทางฝั่งตะวันตกเป็นพื้นที่ชายทะเลที่สวยงามและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก เช่น พัทยา บางแสน สัตหีบ หาดแม่รำพึง หาดบ้านเพ และแหลมแม่พิมพ์เป็นต้น
แผนที่ภาคตะวันออกของไทย
แผนที่ภาคตะวันออกของไทย
 
ภาคตะวันออกของไทย
พัทยา เมืองท่องเที่ยวชื่อก้องโลก
ภาคตะวันตก พื้นที่ของภาคตะวันตกจะมีพื้นที่ 3 ลักษณะผสมกันกล่าวคือ ด้านตะวันตกที่ติดกับประเทศพม่าจะเป็นทิวเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นป่าไม้ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ เป็นทั้งป่าต้นน้ำและแหล่งอุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่ เช่น อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตอนกลางของภาคเป็นที่ราบลุ่มสามารถเพาะปลูกได้ผลดี ส่วนด้านตะวันออกเป็นส่วนที่ติดกับทะเล จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและมีชื่อเสียง เช่น หัวหินและชะอำ เป็นต้น นอกจากนี้ประชากรทางฝั่งตะวันออกบางส่วนยังประกอบอาชีพประมงด้วย
ภาคตะวันตกของไทย
แผนที่ภาคตะวันตกของไทย
 
ภาคตะวันตกของไทย
ชายทะเลหัวหิน ที่เที่ยวสุดคลาสสิค
ลักษณะภูมิอากาศ
ประเทศไทยมีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ซึ่งหมายถึงมีอากาศร้อนและมีความชื้นสูง แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือฤดูหนาว ฤดูฝน และฤดูร้อน โดยที่ฤดูหนาวเริ่มตั้งเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนถึงเดือนพฤษภาคม และฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม ยกเว้นทางภาคใต้จะมีเพียงแค่ 2 ฤดูเท่านั้นคือฤดูร้อนและฤดูฝน (ฤดูหนาวของภาคอื่นจะกลายเป็นฤดูฝนเพิ่มเติมให้ภาคใต้นอกเหนือไปจากฤดูฝนตามปกติ)
แม่คะนิ้งหรือน้ำค้างแข็งในฤดูหนาว
แม่คะนิ้งหรือน้ำค้างแข็ง มักเกิดขึ้นในฤดูหนาวที่ภาคเหนือของไทย
ในฤดูหนาว ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจะมีอากาศที่หนาวเย็น บางครั้งอุณหภูมิยอดดอยลดลงต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ในขณะที่ภาคอื่นจะมีอุณหภูมิสูงกว่า โดยเฉลี่ยช่วงหนาวสุดราว 15-25 องศาเซลเซียส ในขณะที่หน้าร้อนทั่วทุกภาคของประเทศจะมีอุณหภูมิช่วงสูงสุดอยู่ในช่วง 35-40 องศาเซลเซียส
ประวัติของประเทศไทย
ประเทศไทยหรือชนชาติไทยมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน และในแผ่นดินสุวรรณภูมิแห่งนี้ก็มีอาณาจักรโบราณอยู่มากมาย เช่น อาณาจักรขอมโบราณ อาณาจักรทวาราวดี และอาณาจักรศรีวิชัย เป็นต้น ตามพงศาวดารของไทย ชนชาติไทยมีประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปจนถึงอาณาจักรโยนกและน่านเจ้า แต่หลักฐานต่างๆไม่ชัดเจนนัก ดังนั้นเราจึงนับประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยจากหลักฐานที่ชัดเจนเท่านั้น นั่นก็คือนับตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยเป็นต้นมา
นับจากอาณาจักรสุโขทัยเป็นต้นมา ประเทศไทยได้ผ่านยุคหรืออาณาจักรต่างๆมาแล้ว 4 ยุค ดังนี้
1. สมัยอาณาจักรสุโขทัย
อาณาจักรสุโขทัยมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 1792 ถึง พ.ศ. 1981 รวม 189 ปี ก่อนที่สุดท้ายจะถูกยุบรวมกับอาณาจักรอยุธยา อาณาจักรสุโขทัยถูกสถาปนาขึ้นโดยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และถือว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของชาติไทย อาณาจักรสุโขทัยมีกษัตริย์ปกครองทั้งหมด 8 พระองค์ รวมถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราชผู้ทรงคิดค้นอักษรไทยด้วย
2. สมัยอาณาจักรอยุธยา
อาณาจักรอยุธยาได้เริ่มสถาปนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 1893 ถึง พ.ศ. 2310 โดยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง โดยมีที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน ต่อมาภายหลังได้ผนวกเอาอาณาจักรสุโขทัยเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งด้วย อาณาจักรอยุธยาเจริญรุ่งเรืองอยู่ 417 ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองทั้งหมด 33 พระองค์ โดยเสียกรุงให้กับพม่าจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อปี พ.ศ.2112 ต่อมาสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ (อยุธยาตกเป็นประเทศราชของพม่าเป็นเวลา 15 ปี) ต่อมาอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอีกครั้งในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ เมื่อปี พ.ศ. 2310 และครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้เวลา 6 เดือนในการกอบกู้เอกราชคืน
3. สมัยกรุงธนบุรี
ภายหลังกอบกู้เอกราชให้กับกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงย้ายเมืองหลวงจากอยุธยาลงมายังเมืองธนบุรี เนื่องจากอยู่ในชัยภูมิที่ดีกว่า ประกอบกับกรุงศรีอยุธยาได้รับความเสียหายหนักจากการโจมตีของพม่า จนยากจะบูรณะให้งดงามดังเดิมได้ อาณาจักรกรุงธนบุรีตั้งอยู่ ณ เมืองธนบุรี (ปัจจุบันถูกผนวกรวมกับจังหวัดพระนครแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นกรุงเทพมหานคร แต่คนส่วนใหญ่ยังเรียกส่วนที่เคยเป็นจังหวัดธนบุรีว่า ฝั่งธนบุรีหรือฝั่งธน) ระยะเวลาการตั้งอยู่ของอาณาจักรธนบุรีเพียงแค่ 15 ปี และมีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว
4. สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ภายหลังการสิ้นสุดลงของอาณาจักรกรุงธนบุรีในปี พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงให้ย้ายเมืองหลวงข้ามฝั่งมายังฝั่งพระนครและทรงสร้างเมืองหลวงใหม่ ซึ่งก็คือพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน นับจนถึงปัจจุบันกรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 232 ปี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา และนับจนถึงปัจจุบันมีพระมหากษัตริย์ครองราชสมบัติเป็นพระองค์ที่ 9 หรือรัชกาลที่ 9 ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือ ในหลวงองค์ปัจจุบันนั่นเอง โดยทรงขึ้นครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2489 และทรงครองราชย์มาจนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 68 นับเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในโลก
ประชากร เชื้อชาติและภาษา
ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ณ สิ้นปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 64,456,695 คน แบ่งเป็นชาย 31,700,727 คน และหญิง 32,755,968 คน
ประเทศไทยถือได้ว่ามีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดประเทศหนึ่ง ประชากรไทยมีพื้นเพมาจากเชื้อชาติดังนี้ ไทยแท้ (หรือไทยสยาม) ไทยเชื้อสายลาว ไทยเชื้อสายมอญ ไทยเชื้อสายเขมรชาวไทยเชื้อสายจีน ไทยเชื้อสายมลายู ไทยเชื้อสายชวา (หรือแขกแพ) ไทยเชื้อสายจาม (หรือแขกจาม) ไทยเชื้อสายเวียดนาม ไทยเชื้อสายพม่า และไทยเชื้อสายชาวเขาเผ่าต่างๆ เช่น ชาวกะเหรี่ยง ลีซอ ชาวม้ง ส่วย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแรงงานต่างด้าวอีกไม่น้อยกว่า 3 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยเป็นแรงงานถูกกฏหมายเพียง 1,400,000 คน ที่เหลือเป็นแรงงานที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมาย
ประชากรของไทย
ภาพชาวเขาเผ่าแม้วในประเทศไทย
ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาราชการ แต่ในภาษาพูดประชาชนนิยมใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสารกัน ภาษาถิ่นในประเทศไทยมีนับร้อยภาษา โดยที่ภาษาถิ่นที่มีผู้ใช้มาก เช่น ภาษาไทยเหนือ หรือ ภาษาคำเมือง ภาษาไทยอีสาน ภาษาไทยใต้ ภาษายาวี ภาษาลาว (ลาวโซ่ง ลาวพวน) ภาษาเขมร ภาษาไทยโคราช ภาษาจีนแต้จิ๋ว ภาษาจีนกลาง ภาษามอญ ภาษาชาวเขาต่างๆ (กะเหรี่ยง ขมุ ม้ง มูเซอ ลีซอ) ภาษามอแกน และภาษาประจำถิ่นอื่นๆ
การนับถือศาสนา
ในประเทศไทย ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพที่จะนับถือศาสนาใดก็ได้ตามแต่ศรัทธาของตน โดยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนา ศาสนาที่มีผู้นับถือมากและได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐบาลและองค์พระมหากษัตริย์ได้แก่
- ศาสนาพุทธ ในประเทศไทยมีผู้นับศาสนาพุทธ 93.83%
- ศาสนาอิสลาม ในประเทศไทยมีผู้นับศาสนาอิสลาม 4.56%
- ศาสนาคริสต์ ในประเทศไทยมีผู้นับศาสนาคริสต์ 0.80%
- ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในประเทศไทยมีผู้นับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู 0.086%
- ศาสนาซิกข์ ในประเทศไทยมีผู้นับศาสนาซิกข์ 0.011%
หมายเหตุ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ศาสนาในประเทศไทย
ศาสนาพุทธ ศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือ
ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งในโลกที่ประชาชนทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข มีสิทธิ์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากันทุกประการ และได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับตลอดมา
อาหารการกิน
อาหารหลักของคนไทยคือข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว ทั้งข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น
อาหารไทยเป็นหนึ่งในอาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก อันเนื่องมาจากรสชาติที่โดดเด่น เครื่องปรุงที่หลากหลาย และส่วนผสมอาหารไทยส่วนมากไม่ใช่ให้เพียงแค่คุณค่าทางอาหาร แต่ยังมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยร่างกายสามารถต้านทานต่อโรคต่างๆได้ดีอีกด้วย
ข้าว อาหารหลักของคนไทย
ข้าว อาหารหลักของคนไทย
อาหารไทยในแต่ละภาคมีความแตกต่างกันและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อาหารแต่ละภาคที่มีชื่อเสียงมีดังนี้
ภาคเหนือ อาหารเหนือที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยม เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง แคปหมู น้ำเงี้ยว ข้าวซอย ลาบ ลู่ แกงฮังเล ยำไก่ ยำขนุน ไส้อั่ว แกงแค แกงหอยขม เป็นต้น
อาหารไทยภาคเหนือ
น้ำพริกอ่อง อาหารขึ้นชื่อของภาคเหนือ
ภาคอีสาน อาหารอีสานมีหลายเมนูที่กลายเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ เช่น ส้มตำ น้ำตก ไก่ย่าง ลาบ ก้อย ซกเล็ก ไส้กรอกอีสาน ต้มแซบ เสือร้องไห้ ซุปหน่อไม้ เป็นต้น โดยแต่ละเมนูได้รับการดัดแปลงให้มีส่วนผสมและรสชาติให้เหมาะกับแต่ละท้องถิ่น
อาหารไทยภาคอีสาน
ส้มตำ เมนูยอดนิยมของคนอีสานและคนไทยทั่วไป
ภาคกลาง อาหารภาคกลางอาจเรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานอาหารไทยที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก อาหารภาคกลางที่มีชื่อเสียง เช่น ต้มยำ แกงจืด แกงเลียง ต้มกระทิ ต้มข่า ผัดไท แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน แกงป่า ต้มโคล้ง ยำประเภทต่างๆ ผัดผัก ผัดเผ็ด ของทอดต่างๆ ผัดกระเพรา ผัดกระเทียม ผัดพริกแกง ข้าวผัดชนิดต่างๆ น้ำพริกชนิดต่างๆ เป็นต้น
อาหารไทยภาคกลาง
ต้มยำกุ้ง อาหารไทยภาคกลางที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก
ภาคใต้ อาหารใต้ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติที่เข้มข้นและเครื่องแกงที่เผ็ดร้อน อาหารใต้ที่ได้รับความนิยม เช่น สะตอผัดกุ้ง คั่วกลิ้ง แกงเหลือง แกงเผ็ดปลาต่างๆ แกงไตปลา แกงคั่ว ข้าวหมกชนิดต่างๆ เป็นต้น เนื่องจากความร้อนแรงของรสชาติอาหาร ดังนั้นอาหารใต้ต้องมีผักสดแกล้มพร้อมน้ำพริดกระปิด้วยเสมอ
อาหารไทยภาคใต้
คั่วกลิ้ง อาหารยอดนิยมของภาคใต้
การเมืองการปกครอง
ในปัจจุบันประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศมาเลเซีย ประเทศกัมพูชา และอีกหลายๆประเทศในยุโรป โดยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและทรงใช้อำนาจผ่าน 3 ทาง หรือ 3 ฝ่าย กล่าวคือ ทรงใช้อำนาจบริหารผ่านทางนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา และทรงใช้อำนาจตุลาการผ่านทางศาลยุติธรรม
การเมืองการปกครองของไทย
พระราชหัตถเลขาของล้นเกล้ารัชกาลที่ 7
ในอดีตประเทศไทยเคยใช้การปกครองระบอบอื่นมาแล้ว 2 ระบบคือ ระบอบพ่อปกครองลูกซึ่งใช้ในสมัยอาณาจักรสุโขทัย ในการปกครองระบอบนี้พระมหากษัตริย์จะเปรียบเสมือนพ่อและไพร่ฟ้าประชาชนจะเปรียบเสมือนลูก จากนั้นเปลี่ยนมาใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในสมัยอาณาจักรอยุธยาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 แห่งจักรีบรมราชวงศ์ ในระบอบนี้จะเปรียบพระมหากษัตริย์เหมือนสมมุตติเทพ และเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. 2475 มาจนถึงปัจจุบัน
พรรคการเมืองในประเทศไทย
ประเทศมีพรรคการเมืองหลายพรรค โดยในการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ละครั้งจะมีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50 พรรค พรรคการเมืองที่เป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทย เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย และพรรครักประเทศไทย เป็นต้น โดยในการเลือกตั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น ที่แข่งขันกันเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
พรรคการเมืองในประเทศไทย
พรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของไทย
การบริหารราชการแผ่นดิน
ประเทศไทยใช้ลักษณะการบริหารราชการแผ่นดินแบบกระทรวง ทบวง กรม กล่าวคือมีกระทรวงที่ดูแลงานด้านต่างๆของประเทศจำนวน 20 กระทรวง โดยมีรัฐมนตรีประจำกระทรวงเป็นผู้กำหนดนโยบายและมีปลัดกระทรวงเป็นผู้นำนโยบายมาปฏิบัติโดยผ่านกรมกองต่างในกระทรวงนั้นๆ
หมายเหตุ นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ดูแลภาพรวมของประเทศและกำกับดูแลรัฐมนตรีประจำกระทรวงทุกคน
นายกรัฐมนตรีของไทย
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย
 
นายกรัฐมนตรีของไทย
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของไทย
ในส่วนภูมิภาคประเทศไทยแบ่งส่วนการปกครองเป็นจังหวัด โดยมีทั้งหมด 77 จังหวัด (กดที่นี่เพื่อดูรายชื่อจังหวัดทั้งหมดในประเทศไทย) รวมกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นข้าราชการระดับ 10 ของกระทรวงมหาดไทยซึ่งขึ้นตรงกับปลัดกระทรวงมหาดไทยอีกทอดหนึ่ง ยกเว้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน
นอกจากระดับจังหวัด ประเทศไทยยังมีการแบ่งการปกครองในหน่วยที่เล็กลงไปถึงระดับอำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน โดยที่ระดับอำเภอมีนายอำเภอเป็นหัวหน้าหน่วยราชการ โดยขึ้นตรงต่ออธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ส่วนระดับตำบลและระดับหมู่บ้านมีกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ดูแลตามลำดับ โดยที่ทั้งสองตำแหน่งนี้ต้องได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในพื้นที่ และทั้งสองตำแหน่งนี้ขึ้นตรงต่อนายอำเภอของพื้นที่นั้นๆ
ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอนั้นถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นตัวแทนของส่วนกลางที่ส่งไปทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนในพื้นที่ ในปัจจุบันประเทศไทยได้เพิ่มการบริหารแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนประชาชนในพื้นที่ได้เลือกผู้บริหารท้องถิ่นขึ้นมาดูแลความเป็นอยู่ของตน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ. : ดูภาพรวมทั้งจังหวัด) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต. : ดูแลเฉพาะในตำบลของตน) ในส่วนตำบลที่มีขนาดใหญ่นั้นจะไม่มีองค์การบริหารส่วนตำบล แต่จะจัดให้มีสมาชิกสภาเทศบาลแทน
การทหารและการป้องกันประเทศ
ประเทศไทยมีทหารประจำการประมาณ 1,000,000 นาย แบ่งออกเป็น 3 เหล่าทัพคือ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ โดยทั้ง 3 เหล่าทัพขึ้นตรงต่อกองบัญชาการกองทัพไทย (กองบัญชาการทหารสูงสุดเดิม) ส่วนกองบัญชาการกองทัพไทยขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหมอีกต่อหนึ่ง กองทัพไทยนับว่ามีความทันสมัยมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากกองทัพไทยมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ครบถ้วนและทันสมัยนั่นเอง เช่น มีเครื่องบินขับไล่หลายฝูงบิน ทั้ง F-16 และฝูงบินกริพเพน นอกจากนี้ยังมีเรือบรรทุกเครื่องบินหรือเรือหลวงจักรีนฤเบศร ซึ่งเปรียบเสมือนกองบัญชาการรบเคลื่อนที่อีกด้วย
การทหารของไทย
เรือหลวงจักรีนฤเบศรแห่งราชนาวีไทย
 
การทหารของไทย
เครื่องบินรบกริพเพนแห่งกองทัพอากาศไทย
กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายในประเทศไทย
ระบบกฏหมายของไทยเป็นระบบไต่สวน โดยที่โจทก์และจำเลยสามารถนำหลักฐาน เอกสารต่างๆมาแสดงต่อศาลเพื่อให้คำให้การของตนมีน้ำหนักมากขึ้นได้ โดยระบบศาลของไทยใช้ระบบ 3 ศาล กล่าวคือมีศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา หากโจทก์หรือจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลใด สามารถยื่นเรื่องต่อศาลที่สูงขึ้นเพื่อให้เปลี่ยนคำพิพากษาได้ แต่เมื่อศาลฎีกาตัดสินแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนคำตัดสินอีกได้ ศาลทั้ง 3 ระดับนี้ทำหน้าที่วินิจฉัยและตัดสินคดีเกี่ยวกับคดีแพ่งและคดีอาญาทั่วไป
นอกจากระบบศาลยุติธรรม 3 ศาลข้างต้น ประเทศไทยยังมีศาลเฉพาะ ซึ่งมีหน้าที่วินิจฉัยคดีเฉพาะทาง เช่น
ศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่วินิจฉัยและตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับกฏหมายรัฐธรรมนูญ มีศาลเดียว ไม่สามารถอุทธรณ์ผลการตัดสินได้
ศาลปกครอง มีหน้าที่วินิจฉัยและตัดสินคดีเกี่ยวกับการปกครอง ความขัดแย้งระว่างประชาชนและหน่วยงานของรัฐ ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง หรือ ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับหน่วยงานของรัฐ เป็นต้น มีสองศาลคือ ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของศาลปกครองกลาง สามารถยื่นเรื่องให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยเพื่อเปลี่ยนคำตัดสินได้
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีหน้าที่วินิจฉัยและตัดสินคดีเกี่ยวกับนักการเมือง มีศาลเดียว ไม่สามารถอุทธรณ์ผลการตัดสินได้
ศาลทหาร มีหน้าที่วินิจฉัยและตัดสินคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดของทหาร หรือ การกระทำผิดต่อคำสั่งของทหารตามพระราชบัญญัติกฏอัยการศึก มีศาลเดียว ไม่สามารถอุทธรณ์ผลการตัดสินได้
ขนาดของเศรษฐกิจไทย
ประเทศไทยมีขนาดทางเศรษฐกิจและดัชนี้ชี้วัดฐานะทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจดังนี้
- ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 11.38 ล้านล้านบาท สูงขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2555
- อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2556 เท่ากับ 2.9%
- รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร $7,130/คน/ปี หรือเท่ากับ 228,160 บาท/คน/ปี คิดเป็น 19,013 บาท/คน/เดือน สูงเป็นอันดับที่ 4 ในอาเซียนรองจากประเทศสิงค์โปร์ บรูไน และมาเลเซีย
- ประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศ 167,545.84 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ข้อมูลถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 – ธนาคารแห่งประเทศไทย)
- ตลาดหุ้นไทย มีขนาด Market Cap. 13,061,940.80 ล้านบาท (ข้อมูลถึงวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2557 – ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 2.2% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 1.0% (ข้อมูลปี พ.ศ. 2556 – ธนาคารแห่งประเทศไทย)
- อัตราการว่างงาน 0.6% (ข้อมูลปี พ.ศ.2556 – สำนักงานสถิติแห่งชาติ)
- ผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม 12,604,890 คน (รวมทั้งแบบภาคบังคับและแบบสมัครใจ – ข้อมูลถึง 30 เมษายน 2557)
- ยอดส่งออก 553,000 ล้านบาท ยอดนำเข้า 606,558 ล้านบาท ขาดดุลสุทธิ 53,558 ล้านบาท (ข้อมูลถึง 30 เมษายน 2557 – กระทรวงพานิชย์)
- ยอดหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลไทย 3,884,155 ล้านบาท (ข้อมูลถึง 30 เมษายน 2557 – ธนาคารแห่งประเทศไทย)
- ยอดหนี้สาธราณะ 5,583,828.29 ล้านบาท (ข้อมูลถึง 30 เมษายน 2557 – สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ)
การคมนาคมขนส่ง
ประเทศไทยมีการคมนาคมขนส่งที่ค่อนข้างหลากหลายและสะดวกสบาย โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 เส้นทางดังนี้
การคมนาคมขนส่งทางบก การขนส่งทางบกของไทยแบ่งออกเป็นสองชนิดย่อย คือการคมนาคมขนส่งทางถนนและการคมนาคมขนส่งระบบราง โดยที่ประเทศไทยมีถนนที่มีความยาวรวมกันทั้งสิ้น 64,000 กิโลเมตร และระบบรางความยาวทั้งสิ้น 4,346 กิโลเมตร โดยที่การขนส่งระบบรางในประเทศไทยเป็นระบบรางเดี่ยวสลับกันวิ่ง และอยู่ในระหว่างการศึกษาที่จะเปลี่ยนไปเป็นระบบรางคู่เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ
การคมนาคมขนส่งทางน้ำ ประเทศไทยมีการคมนาคมขนส่งทางน้ำในหลายระดับ ทั้งในระดับคูคลองเช่นเรือโดยสารคลองแสนแสบ ระดับแม่น้ำเช่นการขนส่งสินค้าและเรือโดยสารที่วิ่งให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับประเทศเช่นการขนส่งสินค้าทางเรือโดยเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศ
การคมนาคมขนส่งทางอากาศ ประเทศไทยมีระบบการคมนาคมขนส่งทางอากาศที่ทันสมัยและครอบคลุมเป็นอันดับต้นๆของเอเชีย กล่าวคือมีทั้งสายการบินภายในประเทศและสายการบินนานาชาติที่ให้บริการทั้งการเดินทางของผู้คนและการขนส่งาสินค้าทางอากาศ รายละเอียดของสนามบินหรือท่าอากาศยานในประเทศไทยมีดังนี้
- สนามบินนานาชาติ 13 แห่ง ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินเชียงใหม่ สนามบินเชียงราย สนามบินภูเก็ต สนามบินหาดใหญ่ สนามบินอู่ตะเภา สนามบินสมุย สนามบินกระบี่ สนามบินสุโขทัย สนามบินสุราษฎร์ธานี สนามบินอุดรธานี และสนามบินอุบลราชธานี
- สนามบินภายในประเทศ สนามบินที่ให้บริการเฉพาะเที่ยวบินในประเทศของไทยมีทั้งหมด 25 แห่ง
การคมนาคมขนส่งของไทย
รถไฟฟ้าบีทีเอส
 
การคมนาคมขนส่งของไทย
การบินไทย
 
การคมนาคมขนส่งในประเทศไทย
รถไฟไทย
 
การคมนาคมขนส่งในประเทศไทย
เรือโดยสาร
 
การคมนาคมขนส่งของไทย
ท่าเรือ
 
การคมนาคมขนส่งของไทย
ทางด่วน
ภัยธรรมชาติในประเทศไทย
ภัยธรรมชาติในประเทศไทยมีอยู่หลายประเภท ดังนี้
น้ำท่วม – เป็นภัยธรรมชาติที่ประเทศไทยต้องประสบอยู่ทุกปี เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตที่มีฝนตกชุก อีกทั้งป่าไม้ถูกทำลายไปมากจนไม่สามารถอุ้มหรือดูดซับปริมาณน้ำฝนในแต่ละปีได้หมด
ภัยธรรมชาติในประเทศไทย
ภาพน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.2554
พายุฝนฟ้าคะนอง – เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตมรสุมและเป็นแนวเคลื่อนตัวผ่านของพายุที่ก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ ดังนั้นในช่วงฤดูมรสุมประเทศไทยต้องประสบกับพายุฝนขนาดใหญ่เช่นพายุโซนร้อนและพายุไต้ฝุ่นปีละ 20-30 ลูก ถึงแม้ว่าพายุส่วนใหญ่จะอ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนตัวถึงประเทศไทย แต่ก็ยังสร้างความเสียหายหนักทุกปี เช่น น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม บ้านเรือนประชาชนเสียหาย ต้นไม้ใหญ่โค่นล้ม ไฟฟ้าดับ ถนนและสะพานชำรุดเสียหาย เป็นต้น
แผ่นดินไหว – ประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่พร้อมจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กอยู่หลายแห่งโดยเฉพาะในภาคเหนือ โดยเกิดการไหวค่อนข้างแรงครั้งสุดท้ายที่จังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2557 วัดความสั่นสะเทือนได้ 6.3 ตามมาตราริกเตอร์ และมีอาฟเตอร์ช็อคตามมาอีกนับพันครั้งตลอดระยะเวลาการไหวนานนับเดือน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างเกือบทั้งจังหวัด และผลของการไหวครั้งนี้ยังสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ถึงกรุงเทพมหานครด้วย
ภัยธรรมชาติในประเทศไทย
ภาพความเสียหายจากแผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย
นอกจากแผ่นดินไหวในประเทศไทศแล้ว ประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในพื้นที่รอบๆประเทศไทยอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากพื้นที่รอบประเทศไทยเป็นเขตเปลือกโลกที่ยังไม่สงบ เกิดการเคลื่อนที่บ่อย ผลกระทบครั้งใหญ่ที่สุดคือ การเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 9.3 ริกเตอร์ที่ประเทศอินโดนีเซีย จนทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มชายหาดประเทศต่างๆ (รวมถึงภาคใต้ของไทย) จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200,000 คน เมื่อปี พ.ศ.2547
ภัยแล้ง ภัยแล้งในประเทศไทยเกิดขึ้นเกือบทุกปี โดยเฉพาะเมื่อปีก่อนหน้ามีปริมาณฝนตกน้อย เขื่อนต่างๆไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ตามปริมาณที่ต้องการ ทำให้ปีถัดไปมีน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรมที่ใช้น้ำมากและการไล่น้ำเค็ม
ประเทศไทยกับองค์กรระหว่างประเทศ
ประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง ทั้งองค์กรขนาดใหญ่และขนาดเล็กดังนี้
- องค์การสหประชาชาติ (United Nations, UN)
- สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (ASEAN)
- ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community, AEC)
- องค์กรการค้าโลก (World Trade Organization, WTO)
- การประชุมเอเชีย-ยุโรป หรือ อาเซม (Asia-Europe Meeting, ASEM)
- องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเซีย-แปซิฟิค (Asia-Pacific Economic Cooperation, APEC)
- องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization, ILO)
- กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund, WWF)
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่น
ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับต่างประเทศมาอย่างยาวนาน โดยมีการจัดตั้งสถานทูตและสถานกงสุลในต่างประเทศจำนวนมาก และมีประเทศต่างๆเข้ามาตั้งสถานทูตและสถานกลสุลในประเทศไทยมากมายเช่นกัน มีรายละเอียดดังนี้
- สถานทูตไทยในต่างประเทศ มีทั้งหมด 65 แห่ง
- สถานกงสุลไทยในต่างประเทศ มีทั้งหมด 27 แห่ง และสำนักงานการค้าในไต้หวัน 1 แห่ง
- สถานทูตต่างประเทศในประเทศไทย มีทั้งหมด 74 แห่ง
- สถานกงสุลต่างประเทศในประเทศไทย มีทั้งหมด 13 แห่ง
หมายเหตุ กดที่นี่ เพื่อดูรายชื่อสถานทูตและสถานกงสุลต่างประเทศประจำประเทศไทย
แหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย
ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยแหล่งท่องเที่ยวและมีความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ดังนี้
- แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เช่น อุทยานประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์วิถีชีวิต อนุเสาวรีย์บุคคลสำคัญ เมืองหรือแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ และปราสาทหิน เป็นต้น
- แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น ภูเขา (ดอย/ภู) น้ำตก ถ้ำ เหว หน้าผา จุดชมวิว อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ ทะเลสาบและบึงธรรมชาติ เป็นต้น
- แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล เช่น เกาะและหมู่เกาะต่างๆ ชายหาด แหลมและอ่าวต่างๆ เป็นต้น
- แหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาและความเชื่อ เช่น วัด โบสถ์ มัสยิด เจดีย์และพระธาตุ เป็นต้น
- แหล่งท่องเที่ยวสมัยใหม่ เช่น ห้างสรรพสินค้า สวนน้ำ สวนนก สวนสัตว์ ตลาดน้ำ ตลาดนัด สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ฟาร์มสัตว์ประเทศต่างๆ รีสอร์ท สถานตากอากาศ และสวนสาธารณะ เป็นต้น