วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

10 อาหารบำรุงดวงตา / เกร็ดความรู้ / Tonan Asia Autotech

10 อาหารบำรุงดวงตา
                    โรคจอประสาทตาเสื่อม (macular degeneration) เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่งในผู้สูงอายุโดยในสหรัฐอเมริกามีคนมากกว่า 13ล้านคนประสบปัญหานี้ มีหลายวิธีในการป้องกันภาวะนี้ค่ะแต่ถ้ามองจากมุมของการใช้โภชนการมาเป็นตัวหลักในการป้องกัน สารอาหารบางอย่างมีส่วนช่วยในการป้องกันดวงตาเราจากโรคนี้ได้ อาหารที่มีความสำคัญในการป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อมคืออาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ, เบต้าแคโรทีน, วิตามิน C,วิตามิน E, ลูทีนและซีอาแซนธิน (lutein and zeaxanthin), รวมถึงzinc และไขมันโอเมก้า แต่ถ้าจดรายชื่อเหล่านี้เข้าไปตามหาในซุเปอร์มาร์เก็ตเห็นทีจะไม่ได้ซื้อแน่ ค่ะ มาดูกันดีกว่าว่าอาหารอะไรบ้างที่มีสารอาหารสำคัญเหล่านี้

1. แครอท อุดมไปด้วยสารเบต้าแคโรทีนและสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมและต้อกระจกได้



2.-4. พริกหยวก, บร็อคโคลี่, และกะหล่ำดาว (brusselssprouts) – สามช่าทีมนี้อุดมด้วยวิตามินซีล้นหลามเลยค่ะ นอกจากนั้นยังมีสารต้านอนุมูลอิสระตัวสำคัญที่ป้องกันดวงตาโดยเฉพาะด้วย วิธีปรุงคือนำไปนึ่ง, ย่าง, หรือใส่ลงไปในแกงจืดไม่ก็ไข่เจียวก็ได้

5. เนื้อนกกระจอกเทศ อุดมไปด้วยโปรตีน, ธาตุเหล็ก, และzinc ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยทำให้สุขภาพดวงตาดี

6. ไก่งวง มี zinc ในปริมาณสูงเช่นกัน นอกจากนั้นยังมีวิตามินบีสามซึ่งช่วยป้องกันต้อกระจกได้ด้วย อาจซื้อแบบที่เป็นชิ้นแล่บางๆ ใส่ในแซนด์วิชหรือประดับสลัดผักก็ได้ค่ะ

7. มันเทศ (sweet potatoes) – เต็มไปด้วยเบต้าแคโรทีนตามสไตล์พืชที่มีสีส้มแดง

8. ผักปวยเล้ง (spinach) – มีสารประกอบที่เป็นประโยชน์ต่อดวงตาถึง 4 ชนิด ได้แก่ วิตามินซี, เบต้าแคโรทีน, และลูทีนกับซีอาแซนธินซึ่งสองตัวท้ายนี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบมากในจอ ประสาทตา


9. – 10. ปลาแซลมอนธรรมชาติกับปลาซาร์ดีน ไขมันโอเมก้า 3 ในปลามีประโยชน์ต่อดวงตาเช่นกันค่ะ ลองรับประทานปลาหนักประมาณ 1 ขีดสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งนะคะ


บทความโดย : ผศ.พญ.วินิทรา นวลละออง
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขอบคุณที่มา : สสส.






วันพุธที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2557

ย้อนรอยวันนักข่าวที่ “พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย”|Tonan Asia Autotech Co., Ltd.

ย้อนรอยวันนักข่าวที่ “พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย”|Tonan Asia Autotech Co., Ltd.




พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย

มีใครรู้บ้างว่าวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันอะไร? คำตอบคือ “วันนักข่าว” หรือ “วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ” ซึ่งหลายคนคงจะไม่รู้เพราะไม่ได้เป็นนักข่าว หรือแม้กระทั่งนักข่าว สื่อมวลชนเอง หลายคนก็ไม่รู้ว่าวันนี้เป็นวันนักข่าว
     
ดังนั้นเนื่องในโอกาสวันนักข่าวนี้ ฉันจึงขอนำเสนอ “พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย” ซึ่งถือเป็นสื่อที่เก่าแก่ที่สุด โดยพิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทยแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ ถนนราชสีมา เขตดุสิต ก่อตั้งขึ้นโดยสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้วิชาการหนังสือพิมพ์ให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาวิชาชีพ
                        
                                                                 บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ฯ
แต่ก่อนจะเข้าไปชมในพิพิธภัณฑ์ ฉันขอเกริ่นเกี่ยวกับวิวัฒนาการของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยก่อน เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีกลุ่มมิชชันนารีชาวอเมริกัน เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ ซึ่งหมอบรัดเลย์ได้จัดตั้งโรงพิมพ์ และออกหนังสือพิมพ์ข่าวรายปักษ์ฉบับแรกในประเทศไทย ชื่อ หนังสือจดหมายเหตุ หรือบางกอกรีคอเดอ ซึ่งพิมพ์ด้วยภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
     
หลังจากนั้น ก็มีหนังสือพิมพ์ออกมาอีกหลายฉบับ ทั้งรายสัปดาห์ รายปักษ์ และรายปี อาทิ บางกอกคาเลนดาร์ ต่อมาพัฒนาเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน เช่น บางกอก เดลี่ แอดเวอไทเซอ และ สยาม เดลี่ แอดเวอไทเซอ
                       
                                                     มุมหนังสือพิมพ์นิตยสารที่เผยแพร่เกิน 10 ปี
เมื่อรู้ความเป็นมาขอหนังสือพิมพ์ในประเทศของเราแล้ว ก็เข้าสู่พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทยกันเลย ภายในแบ่งเป็นส่วนจัดแสดง โดยก่อนจะเข้าสู่ส่วนแรก มีภาพของหน้า “หนังสือพิมพ์และนิตยสารในอดีต” ในบางส่วนให้เราได้ชมกัน และ “หนังสือพิมพ์และนิตยสารปัจจุบันออกเผยแพร่ต่อเนื่องเกินกว่า 10 ปี” ทำให้เราได้รู้ว่าก่อนจะมาเป็นหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่เห็นๆกันในปัจจุบันมีการวิวัฒนาการการพัฒนามาหลากหลายขั้นตอน
                         
                                                            จำลองสำนักงานหนังสือพิมพ์ในอดีต
ต่อมาในส่วนถัดไปคือ ส่วน “สำนักงานหนังสือพิมพ์ในอดีต” ซึ่งจัดจำลองสำนักพิมพ์ที่มีเจ้าของ บรรณาธิการ นักข่าว และช่างพิมพ์ ทำงานร่วมกัน โดยจัดแสดงเป็นหุ่นจำลองการทำงานในกองบรรณาธิการ ระยะแรกๆ เจ้าของและบรรณาธิการเป็นคนๆเดียวกัน ทำทั้งลงทุนและดูแลการนำเสนอข่าวและบทความ รวมทั้งการจัดรูปแบบและการพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ รวมถึงการเป็นนักเขียนด้วย

                        
                                                        บทบาทด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
สำหรับนักข่าวก็ต้องสามารถหาข่าวและจับประเด็นมาเขียนข่าวได้ทุกประเภท รวมถึงต้องถ่ายภาพเองได้ หรืออาจมีช่างภาพต่างหากก็ได้ ส่วนช่างพิมพ์ต้องสามารถเรียงพิมพ์และเป็นช่างพิมพ์ด้วย มีความสามารถในการจัดหน้าและแกะบล็อกไม้สำหรับพิมพ์ภาพลายเส้นประกอบ และพาดหัวข่าว การพิมพ์ในสมัยนั้นก็จะใช้วิธีป้อนกระดาษผ่านเครื่องพิมพ์ครั้งละแผ่น

                       
                                                     นักหนังสือพิมพ์ผู้มีบทบาทสำคัญในอดีต
ต่อมาเมื่อกิจการของหนังสือพิมพ์ได้พัฒนาขึ้นตามจำนวนประชากรและเทคโนโลยี จึงได้มีการจัดแยกหน้าที่กันเพื่อทำงานให้รวดเร็วและสอดคล้องกับระบบการพิมพ์ที่ทันสมัยขึ้น โดยมีเครื่องมือสื่อสารส่งข่าวที่รวดเร็ว และใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการจัดหน้า และควบคุมระบบการพิมพ์
     
ถัดไปเป็นส่วนจัดแสดง “บทบาทด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม” ในส่วนนี้เป็นการเสนอข่าวและข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตั้งแต่ยุคแรกถึงปัจจุบัน ซึ่งใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และการสรุปข้อมูลเฉพาะด้านเป็นภาพโปร่งแสงที่จัดแสดงควบคู่กันไป

                        
                                                             พระมหากษัตริย์กับกิจการหนังสือพิมพ์
ส่วนแสดงต่อไปคือ “บุคคลผู้มีบทบาทสำคัญในวงการหนังสือพิมพ์” โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนย่อยได้แก่ “ส่วนพระมหากษัตริย์กับกิจการหนังสือพิมพ์” โดยมีพระบรมรูปของกษัตริย์ผู้นักหนังสือพิมพ์ 2 พระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
     
เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการพิมพ์ตั้งแต่ยังทรงผนวช ได้ทรงโปรดให้นำเครื่องพิมพ์มาตั้งไว้ที่วัด เพื่อพิมพ์เอกสารเผยแพร่พุทธศาสนา ครั้งเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ก็ได้โปรดเกล้าให้สร้างโรงพิมพ์หลวงขึ้นในพระราชวังชั้นกลาง

                                            
                                                                    ในหลวงกับการหนังสือพิมพ์
และทรงโปรดเกล้าฯให้ออกหนังสือพิมพ์ข่าวเป็นระยะๆชื่อ ราชกิจจานุเบกษา พิมพ์แจกจ่ายให้กับส่วนราชการและทั่วๆไป โดยพระองค์ทรงเป็นบรรณาธิการและอำนวยการพิมพ์ นับเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของคนไทยที่รายงานข่าวที่ถูกต้องในราชสำนักและส่วนราชการทั่วๆไป
     
นับว่าพระองค์ทรงเป็นบิดาด้านนิเทศศาสตร์และการพิมพ์อย่างแท้จริง และในสมัยพระองค์ถือเป็นยุคที่วิชาการพิมพ์ และกิจการหนังสือพิมพ์ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังจนมาถึงทุกวันนี้

                     
                                                                 เครื่องพิมพ์ดีดรุ่นแรก
และมาในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงเป็นผู้วางรากฐานสถาบันการสื่อสารมวลชนให้เป็นฐานันดรที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี พระองค์ทรงให้เสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร และตราพระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2465 ขึ้น เพื่อกำหนดให้เจ้าของและบรรณาธิการมีความรับผิดชอบในหนังสือพิมพ์นั้นๆ นับเป็นกฎหมายเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ฉบับแรก พระองค์ทรงส่งเสริมกิจการหนังสือพิมพ์ไทยให้เจริญก้าวหน้าอย่างถึงที่สุด

                      
                                                               นิทรรศการหนังสือพิมพ์ไทย
อีกส่วนแสดงย่อยก็คือส่วนของ “นักหนังสือพิมพ์ผู้มีบทบาทสำคัญในอดีต” โดยนำเสนอภาพ บทบาทสำคัญ และผลงานด้านวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ได้แก่ ตวส.วรรณาโภ (เทียนวรรณ) นักหนังสือพิมพ์ไทยคนแรกที่กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ, พระราชวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒติยาลงกรณ์(น.ม.ส.), พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา), โชติ แพร่พันธุ์ (ยาขอบ), เฉลิม วุฒิโฆษิต (เฉลิมวุฒิ), เสถียร พันธรังสี, มาลัย ชูพินิจ (ม.ชูพินิจ) และอิศรา อมันตกุล

                         
                                                                 ประวัติสมาคมหนังสือพิมพ์ฯ
ถัดไปเป็นส่วนของ “นิทรรศการหนังสือพิมพ์ไทย” ที่จัดแสดงประวัติความเป็นมาของหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับ เช่น เดลินิวส์ ไทยรัฐ สยามรัฐ แนวหน้า คู่สร้างคู่สม อสท ผู้หญิง การเงินธนาคาร เป็นต้น และมีหนังสือพิมพ์เก่ารวมทั้งภาพเกี่ยวกับวิวัฒนาการ ของหนังสือพิมพ์ติดตามผนังห้อง รวมถึงประวัติสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วย

                                         
                                                     ตัวอย่างหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์
สำหรับนักศึกษานิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ หรือใครที่สนใจอยากจะรู้เรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ไทย ก็สามารถแวะเวียนไปชมและเรียนรู้กันได้...

“พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย” ถ.ราชสีมา เขตดุสิต กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวันจันทร์-ศุกร์ โดยนัดหมายล่วงหน้า เวลา 10.00-17.00 น. โทร.0-2669-7124-6
แหล่งที่มา :