ความหวานจากธรรมชาตินั้นมีมากมาย หลากหลายรูปแบบ ส่วนมากจะมาจากส่วนต่างๆของพืช อย่างยางไม้ และน้ำหวานจากเกสรของดอกไม้ น้ำผึ้งเองก็เป็นผลผลิตจากน้ำเชื่อมจากเกสรดอกไม้ชนิดต่างๆเก็บโดยพนักงานจอมขยันอันดับต้นๆของโลก ผึ้งงานตัวน้อยที่ทำงานกันอย่างแข็งขันโดยไม่มีวันหยุด
ผึ้งงานหรือผึ้งน้ำหวานจะเปลี่ยนน้ำเชื่อมจากดอกไม้(น้ำต้อย)เป็นน้ำผึ้งด้วยการขย้อนน้ำเชื่อมจากดอกไม้ที่ดูดไว้ออกมา เพื่อเตรียมไว้เป็นแหล่งอาหารให้กับตัวอ่อนในรังผึ้ง โดยจะสร้างขี้ผึ้งจากเศษเกสรดอกไม้ผสมกับน้ำเมือก ขึ้นรูปเป็นโพรงทรง 6 เหลี่ยม และเก็บของเหลวที่ได้จากการขย้อนนั้น(น้ำผึ้ง)ลงไป ปิดทับด้วยขี้ผึ้งอ่อนอีกชั้น
น้ำผึ้งเป็นสารให้ความหวานชนิดแรกๆจากธรรมชาติที่มนุษย์ใช้เป็นอาหารก่อนที่จะมีใช้น้ำตาลเสียอีก โดยมีประวัติการใช้น้ำผึ้งมาตั้งแต่ยุคอียิปต์ และ กรีกโบราณ โดยมีสรรพคุณทางยา ช่วยในการสมานแผล ฆ่าเชื้อโรค บำรุงความงาม และช่วยบำรุงกำลัง นอกจานี้น้ำผึ้งยังมีบทบาทในทางศาสนา โดยเป็นเครื่องมือในการประกอบศาสนกิจ ทั้งในคัมภีร์ไบเบิล คัมภีร์อัลกุรอ่าน และพระไตรปิฎก อีกด้วย
ส่วนประกอบของน้ำผึ้ง
น้ำผึ้งมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบถึง 80-85% ประกอบไปด้วยน้ำตาลชนิดต่างๆ น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ได้แก่ กลูโคส และฟรักโทส ซึ่งเป็นน้ำตาลที่ย่อยเป็นพลังงานให้กับร่างกายได้อย่างรวดเร็ว อีกกลุ่มคือน้ำตาลโมเลกุลคู่ ได้แก่ มอลโทส ซูโครส แล็กโทส และมีส่วนของน้ำตาลที่มีโมเลกุลซับซ้อน อย่างเดกซ์โทรสผสมอยู่ด้วย
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นส่วนผสมความหวานที่ได้จากธรรมชาติล้วนๆ ดังนั้นน้ำผึ้งจากธรรมชาติที่บริสุทธิ์จริงจะมีปริมาณซูโครสไม่เกินร้อยละ 5-8 เท่านั้น ถ้าสูงกว่านั้นแสดงว่า น้ำผึ้งนั้นมีการผสมน้ำเชื่อม หรือไม่ใช่น้ำผึ้งบริสุทธิ์นั้นเอง
ตารางคุณค่าทางอาหารของน้ำผึ้ง
ปริมาณคุณค่าทางอาหารต่อ น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ | |
น้ำ | 3.59 g. |
พลังงาน | 64 kcal |
โปรตีน | 0.06 g. |
ไขมัน | 0.00 g. |
คาร์โบไฮเดรต | 17.30 g. |
ไฟเบอร์ | 0.0 g. |
น้ำตาล | 17.25 g. |
คุณค่าทางอาหารของน้ำผึ้ง
น้ำผึ้งเป็นอาหารกลุ่มให้พลังงาน (คาร์โบไฮเดรต)เนื่องจากมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก น้ำตาลกว่า 70%ในน้ำผึ้งเป็นน้ำตาลที่ย่อยง่าย ร่างกายสามารถดูซึมไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยฟื้นฟูกำลัง ช่วยให้หายเหนื่อยเร็ว และให้ความสดชื่น หลังออกกำลังกายได้ดี
ในน้ำผึ้งมีวิตมิน บีและซี และยังมีแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม เกลือแร่ ฟอสฟอรัส กรดอะมิโนที่จำเป็น รวมถึงสารต้านอนุมุลอิสระ ที่มีลักษณะเดียวกันกับที่พบในผักใบเขียว มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยชะลอวัย ชะลอความเสื่อมของเซลล์และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน
สรรพคุณทางยาของน้ำผึ้ง
น้ำผึ้งได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายมาหลายพันปีแล้ว โดยถือให้น้ำผึ้งเป็นอาหารบำรุงกำลัง ปรับสมดุลให้กับร่างกาย ช่วยให้อวัยวะภายในทำงานได้ดีขึ้น ช่วยรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย ลดกรดในกระเพาะอาหาร ใช้ล้างแผล ฆ่าเชื้อโรค ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกได้
สรรพคุณด้านความงามของน้ำผึ้ง
นอกจากน้ำผึ้งจะใช้นำมาเป็นอาหารที่อุดมคุณค่าแล้ว น้ำผึ้งยังมีสรรพคุณมากมายเพื่อความงามอีกด้วย น้ำผึ้งถูกนำมาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางค์และครีมบำรุงผิวมาตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ ด้วยที่น้ำผึ้งมีความสามารถในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย “ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์” สารชนิดนี้กำจัดเชื้อโรคได้โดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อ ซึ่งทำให้น้ำผึ้งถูกนำมาใช้เพื่อรักษาโรผิวหนังรวมถึงเรื่องความงามอีกด้วย
นอกจากนี้น้ำผึ้งมีสารประกอบที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องแสงแดดและรังสียูวี แถมช่วยเสริมสร้างเซลล์ผิวให้แข็งแรง นุ่มเนียน เครื่องสำอางค์ประเภท สบู่ ครีมพอกหน้า ครีมขัดหน้า เจลล้างหน้าจึงนิยมน้ำน้ำผึ้งมาเป็นส่วนผสมหลักของผลิตภัณฑ์
ลักษณะน้ำผึ้งที่ดี
น้ำผึ้งจะมีหน้าตาและสีจะคล้ายๆกันแต่คุณภาพอาจแตกต่างกัน น้ำผึ้งที่ดีจะต้องมีลักษณะข้นหนืด มีความใสโปร่งแสง ไม่มีตะกอน ไม่มีฟอง ไม่มีกลิ่นบูดเปรี้ยว แต่จะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวจากเกสรดอกไม้ การคัดน้ำผึ้งที่ดีจะต้องดูจากความชื้นที่อยู่ในน้ำผึ้ง ยิ่งน้ำผึ้งมีความชื้นต่ำก็จะยิ่งมีคุณภาพมากเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลว่า น้ำผึ้งเดือน 5 จึงเป็นสุดยอดน้ำผึ้งคุณภาพ เพราะในเดือน 5 เป็นหน้าเล้ง ไม่มีฝน ดอกไม้กำลังบานสะพรั้ง จึงทำให้น้ำผึ้งที่ได้มีความชื้นต่ำและมีกลิ่นหอม
แต่ด้วยในปัจจับันน้ำผึ้งเดือน 5 ตามธรรมชาติอาจหาได้ยากเนื่องพื้นที่ป่าลดลง จึงทำให้มีการปลอมแปลงน้ำผึ้งมาแร่ขายกันมากขึ้น น้ำผึ้งที่ขายกันหากเป็นน้ำผึ้งแท้ ส่วนมากจะมาจากการเลี้ยงผึ้งในสวนไม้ผล เช่นลำใย หรือ เลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งคุณภาพจะสู้น้ำผึ้งป่าไม่ได้ เมื่อเก็บไว้ซักระยะน้ำผึ้งจะเปลี่ยนสี สีจะเข้มขึ้น และอาจมีกลิ่นและรสชาติเปลี่ยนไป
น้ำผึ้งแท้หรือเทียมสังเกตุอย่างไร
ด้วยที่สรรพคุณมากมายของน้ำผึ้ง ทำให้ราคาของน้ำผึ้งแท้สูงเมื่อเทียบกับน้ำตาล จึงทำให้เกิดกลโกงหลอกลวงมากมายเกี่ยวกับน้ำผึ้ง ทั้งใช้น้ำผึ้งแท้ผสมน้ำตาลเคี่ยวผสมแบะแซเพิ่มความข้นหนืดและคงรูป หรือใช้ฝักจามุรี ฝักฉำฉามาเคี่ยวด้วยไฟอ่อน พอละลายก็จะได้น้ำผึ้งเก๊โดยไม่ต้องเติมน้ำผึ้งจริงแม้หยุดเดียว
สำหรับคนที่ทานน้ำผึ้งเป็นประจำ จะคุ้นเคยกับลักษณะและกลิ่นอยู่แล้ว เพียงแค่ดม หรือชิมก็สามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจน แต่สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย ไม่มีความรู้ เพื่อความมั่นใจลองใช้วิธีเหล่านี้พิสูจน์ดู
- หยดลงบนนิ้วมือแล้วคลึงดู ถ้าเป็นน้ำผึ้งแท้จะไม่แห้ง จะยังลื่นอยู่ตลอด แต่ถ้าหากเป็นน้ำผึ้งปลอมปน น้ำผึ้งจะตกผลึกและเหนียวติดนิ้ว
- หยดน้ำผึ้งลงบนกระดาษทิชชู ถ้าเป็น้ำผึ้งปลอม หยดน้ำเชื่อมจะขยายเป็นวงกว้างและกระจายออกเร็วกว่าน้ำผึ้งจริง
- หยดน้ำผึ้งลงในน้ำ ถ้าเป็นน้ำผึ้งแท้น้ำผึ้งจะคงตัวเป็นก้อนก่อนแล้วจึงค่อยๆละลายไป
- ตักน้ำผึ้งแล้วหยดลง น้ำผึ้งแท้จะไหลเป็นสาย มีใยบางๆไม่ขาดสาย และจะพับกองเป็นชั้นก่อนจะรวมตัวกันเป็นเนื้อเดียว
- ทดสอบโดยการผสมน้ำผึ้งกับน้ำชาจีน โดยใช้น้ำผึ้ง 1 ช้อนชาผสมกับน้ำชาจีนครึ่งแก้วคนให้เข้ากันแล้ววางทิ้งไว้ ถ้าชามีดำคล้ำ แสดงว่าเป็นน้ำผึ้งปลอม เพราะถ้าเป็นน้ำผึ้งแท้น้ำชาจะไม่เปลี่ยนสี
- เมื่อน้ำผึ้งเก็บไว้ตู้เย็นน้ำผึ้งจะมีผลึกน้ำตาลเป็นเกร็ดเล็กๆ
- น้ำผึ้งแท้มดจะไม่ขึ้น
- เทน้ำผึ้งลงในฝามือ ถ้าเป็นน้ำผึ้งแท้เวลาล้างออก จะล้างออกได้ง่ายไม่เหนียวเหนอะหนะติดมือ
- จุ่มหัวไม้ขีดไฟลงบนน้ำผึ้งถ้าจุดไฟติดแสดงว่าเป็นน้ำผึ้งแท้
ข้อควรระวังในการใช้น้ำผึ้ง
ถึงน้ำผึ้งจะมีประโยชน์มากมายแต่ก็มีคนบางกลุ่มที่ไม่เหมาะกับการทานน้ำผึ้ง เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน โดยเเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาหารแพ้ละอองของเกสรดอกไม้ อาจทำให้เกิดผื่นแดง จึงควรทดสอบก่อนใช้เสียก่อน ผู้ป่วยโรคเบาหวาน อย่าคิดว่าน้ำผึ้งปลอดภัยทานได้ โดยไม่ต้องควบคุม เพราะต้องไม่ลืมว่าน้ำผึ้งประกอบด้วยน้ำตาลหลายชนิด จึงจำเป็นที่ต้องควบคุมปริมาณในการทานเช่นเดียวกับความหวานจากแหล่งอื่น
นอกจากนี้ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปีไม่ควรทานน้ำผึ้ง และต้องมั่นใจว่าน้ำผึ้งนั้นสะอาด ได้มาจากแหล่งที่ปลอดภัยถูกหลักอนามัย ต้องระมัดระวังการบนเปื้อน โดยเฉพาะการนำน้ำผึ้งมาใช้ในการรักษาและสมานแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อและเกิดการลุกลามเน่าเปื่อยได้
เรียบเรียง: lovefitt.comcredit: doctor.or.th, bellwilanda.blogspot.com, ndb.nal.usda.gov, it-gateways.com, thaihealth.or.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น