วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

วันสารทจีน 2558 ตำนาน การไหว้ในเทศกาลสารทจีน / ADMIN - SJ (TONAN ASIA AUTOTECH)

วันสารทจีน 2558 ตำนาน การไหว้ในเทศกาลสารทจีน


วันสารทจีน หรือ เทศกาลสารทจีน  (Sart Chin Day or Ghost Festival or Spirit Festival) จะตรงกับวันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 7 ตามปีปฏิทินทางจันทรคติของจีน ปีปฏิทินทางจันทรคติของจีนโดยทั่วไปจะช้ากว่าปีปฏิทินทางจันทรคติของไทยประมาณ 2 เดือน หากพลิกดูปฏิทินที่มีทั้งระบบจันทรคติของไทย และของจีน จะเห็นว่า วันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 7 ของจีนนั้น ทางจันทรคติไทยกลับเป็น วันขึ้น 14 ค่ำเดือน 9
          เทศกาลสารทจีนถือเป็นวันสำคัญที่ลูกหลานชาวจีนจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยพิธีเซ่นไหว้ และยังถือเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้
          Zhongguo nongli qiyue shiwuri shi Zhongyuan Jie.
          จงกว๋อ หนงลี่ ชีเยฺว่ ฉือหวู่รื่อ ฉื้อ จงเยฺวี๋ยน เจี๋ย
          วันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติจีน คือ วันเทศกาลจงเยฺวี๋ยน  วันเทศกาล Zhongyuanของจีน หรือที่เราเรียกว่า วันสารทจีน เป็นวันซึ่งทุกครอบครัวทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ดังนั้น บางครั้งชาวจีนจึงเรียกวันดังกล่าวว่า GuiJie กุ่ยเจี๋ย หรือ Wangren Jie หวางเหรินเจี๋ย
          Gui = ผี ซึ่งเป็นคำเรียกคนที่ถึงแก่กรรมแล้ว
          Wangren = คนที่ตายไปแล้ว
          Jie = เทศกาล
         GuiJie หรือ Wangren Jie จึงแปลว่า เทศกาลเซ่นไหว้ผู้ซึ่งล่วงลับไปแล้ว
          ชาวจีนเชื่อกันว่าวันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 7 เป็นวันซึ่งวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะได้กลับมาเยือนโลกมนุษย์เพื่อมาเยี่ยมครอบครัวของตน เพราะฉะนั้น ในวันนี้ชาวจีนจะทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษกันทุกครัวเรือน
ตำนานวันสารทจีน

ตำนานที่ 1
          ตำนานนี้กล่าวไว้ว่าวันสารทจีนเป็นวันที่เซ็งฮีไต๋ตี๋ (ยมบาล) จะตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์และส่งวิญญาณร้ายลงนรก ชาวจีนทั้งหลายรู้สึกสงสารวิญญาณร้ายจึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ดังนั้นเพื่อให้วิญญาณร้ายออกมารับกุศลผลบุญนี้จึงต้องมีการเปิดประตูนรกนั่นเอง
ตำนานที่ 2
          มีชายหนุ่มผู้หนึ่งมีนามว่า “มู่เหลียน” เป็นคนเคร่งครัดในพุทธศาสนามาก ผิดกับมารดาที่เป็นคนใจบาปหยาบช้าไม่เคยเชื่อเรื่องนรก-สวรรค์มีจริง ปีหนึ่งในช่วงเทศกาลกินเจนางเกิดความหมั่นไส้คนที่นุ่งขาวห่มขาวถือศีลกินเจ นางจึงให้มู่เหลียนไปเชิญผู้ถือศีลกินเจเหล่านั้นมากินอาหารที่บ้านโดยนางจะทำอาหารเลี้ยงหนึ่งมื้อ
          ผู้ถือศีลกินเจต่างพลอยยินดีที่ทราบข่าวว่ามารดาของมู่เหลียนเกิดศรัทธาในบุญกุศลครั้งนี้ จึงพากันมากินอาหารที่บ้านของมู่เหลียนแต่หาทราบไม่ว่าในน้ำแกงเจนั้นมีน้ำมันหมูเจือปนอยู่ด้วย การกระทำของมารดามู่เหลียนนั้นถือว่าเป็นกรรมหนัก เมื่อตายไปจึงตกนรกอเวจีมหานรกขุมที่ 8 เป็นนรกขุมลึกที่สุดได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส
          เมื่อมู่เหลียนคิดถึงมารดาก็ได้ถอดกายทิพย์ลงไปในนรกภูมิ จึงได้รู้ว่ามารดาของตนกำลังอดอยากจึงป้อนอาหารแก่มารดา แต่ได้ถูกบรรดาภูตผีที่อดอยากรุมแย่งไปกินหมดและเม็ดข้าวสุกที่ป้อนนั้นกลับเป็นไฟเผาไหม้ริมฝีปากของมารดาจนพอง แต่ด้วยความกตัญญูและสงสารมารดาที่ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างสาหัสมู่เหลียนได้เข้าไปขอพญาเหงี่ยมล่ออ๊อง (ท้าวมัจจุราช) ว่าตนของรับโทษแทนมารดา
          แต่ก่อนที่มู่เหลียนจะถูกลงโทษด้วยการนำร่างลงไปต้มในกระทะทองแดง พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาโปรดไว้ได้ทัน โดยกล่าวว่ากรรมใดใครก่อก็ย่อมจะเป็นกรรมของผู้นั้นและพระพุทธเจ้าได้มอบคัมภีร์อิ๋ว หลันเผิน ให้มู่เหลียนท่องเพื่อเรียกเซียนทุกทิศทุกทางมาช่วยผู้มีพระคุณให้หลุดพ้นจากการอดอยากและทุกข์ทรมานต่างๆ ได้ โดยที่มู่เหลียนจะต้องสวดคัมภีร์อิ๋ว หลันเผินและถวายอาหารทุกปีในเดือนที่ประตูนรกเปิดจึงจะสามารถช่วยมารดาของเขาให้พ้นโทษได้
          นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวจีนจึงได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมากันโดยตลอดด้วยการเซ่นไหว้ โดยจะนำอาหารทั้งคาวหวาน และกระดาษเงินกระดาษทองไปวางไว้ที่หน้าบ้านหรือตามทางแยกที่ไม่ไกลนัก มีนัยว่าเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของบรรดาวิญญาณเร่ร่อนที่กำลังจะผ่านมาใกล้ที่พักของตน

กิจกรรมวันสารทจีน
          ชาวจีนเชื่อกันว่าวันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 7 เป็นวันซึ่งวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะได้กลับมาเยือนโลกมนุษย์เพื่อมาเยี่ยมครอบครัวของตน เพราะฉะนั้น ในวันนี้ชาวจีนจะทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษกันทุกครัวเรือน กิจกรรมหลักคือ
          Shao zhiqian  ฌาว จื่อเฉียน เผากระดาษเงินกระดาษทอง
          การเผากระดาษเงินกระดาษทองให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปนั้น ก่อนเผากระดาษ ต้องนำหินปูนมาขีดเป็นวงกลมซ้อนกัน 3-4 วงตรงลานบ้านที่จะใช้เผากระดาษ แล้วนำกระดาษเงินกระดาษทองวางไว้ให้อยู่ในวงกลมวงในสุดที่ขีดไว้ ด้วยความเชื่อว่าวงกลมที่วงไว้โดยรอบจะกันมิให้ผีไร้ญาติมาแย่งชิงเอากระดาษเงินกระดาษทองไปได้ หลังจากนั้นจึงเผากระดาษเงินกระดาษทองที่เตรียมไว้ ขณะที่เผาก็กล่าวเชิญบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปให้มารับเงินทองที่เผาไปให้โดยต้องพูดแบบไม่ขาดปากว่า
          lai lingqian.
          XX ไหล หลิ่ง เฉียน
          XX มารับเงินด้วย
          (XX คือให้เติมชื่อผู้ตาย หรือคำเรียก เช่น คุณปู่ คุณย่า ฯลฯ)
          หลังจากเผากระดาษเงินกระดาษทองที่อยู่ในเส้นวงกลมหมดแล้ว ยังต้องนำกระดาษเงินกระดาษทองอีกชุดหนึ่งมาวางไว้นอกเส้นวงกลม แล้วเผาเพื่อแผ่ส่วนบุญให้แก่ผีไร้ญาติ
          กิจกรรมวันสารทจีนที่ทำในแต่ละถิ่นของจีน ไม่ได้เป็นรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ คนจีนในบางถิ่นจะไปทำพิธีเซ่นไหว้ที่สุสานของบรรพบุรุษในตอนบ่าย บางถิ่นก็ทำพิธีเซ่นไหว้ที่บ้าน แต่สิ่งที่ขาดมิได้ก็คือ ทุกครัวเรือนไม่ว่าจะยากดีมีจน ต้องจัดอาหารอย่างดีโต๊ะหนึ่งเซ่นไหว้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ถือเป็นการเลี้ยงส่งก่อนที่วิญญาณผู้ล่วงลับทั้งหลายจะกลับไปยังภพของตน ดังนั้น จึงเรียกการจัดอาหารเซ่นไหว้นี้ว่า
          Song Wangren
          ซ่ง หวางเหริน
          ส่งผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
อาหารที่จัดเซ่นไหว้วันสารทจีน นอกจากหมูเห็ดเป็ดไก่แล้ว มักมีอีก 4 อย่าง คือ
          1. baozi เปาจึ  ซาลาเปา
          2. jiaozi เจี่ยวจือ  เกี๊ยวแบบเกี๊ยวจีน
          3. mantou หมานโถว  หมั่นโถว
          4. pingguo ผิงกว่อ แอปเปิล



          ในสมัยก่อน เมื่อยังเป็นสังคมเกษตรกรรม สิ่งที่ทุกครัวเรือนทำในวันนี้อีกสิ่งหนึ่งคือ การนำกิ่งธัญพืช 5 อย่าง เช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ลูกเดือย ถั่ว มาผูกรวมเป็นพู่ แล้วปักไว้เหนือประตูหน้าบ้าน โดยถือว่าพู่ธัญพืช 5 อย่างนี้ เป็นสัญลักษณ์แทนม้า เพื่อว่าเมื่อเสร็จพิธีเซ่นไหว้ และการเลี้ยงส่งแล้ว บรรพบุรุษก็จะได้ขี่ม้ากลับไป เป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่บรรพบุรุษของตน พู่ที่ใช้ในพิธีวันสารทจีน เรียกว่า
          wugu suizi หวูกู่ ซุ่ยจึ พู่ที่ทำด้วยธัญพืช 5 อย่าง
การไหว้ในเทศกาลสารทจีน
          การไหว้เจ้าที่ จะไหว้ก่อนในตอนเช้า เผากระดาษเงินกระดาษทองจนเรียบร้อย สายๆ จึงตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษและไหว้ฮ้อเฮียตี๋ บางบ้านนิยมไหว้ตอนบ่าย ถ้าไหว้พร้อมกัน ให้ตั้งโต๊ะแยกจากกัน แต่เผากระดาษเงินกระดาษทองร่วมกันได้  การไหว้ในเทศกาลสารทจีนต่างจากการไหว้ในเทศกาลอื่นๆ ตรงที่แบ่งการไหว้ออกเป็น 3 ชุด
          1. ชุดสำหรับไหว้เจ้าที่  จะไหว้ในตอนเช้า มีอาหารคาวหวาน ขนมที่ไหว้ก็ขนมถ้วยฟู กุยช่าย ส่วนขนมไหว้พิเศษที่ต้องมีซึ่งเป็นประเพณีของสารทจีนคือขนมเทียน ขนมเข่ง ซึ่งต้องแต้มจุดสีแดงไว้ตรงกลาง เนื่องจากชาวจีนมีความเชื่อที่ว่าสีแดงเป็นสีแห่งความเป็นศิริมงคล นอกจากนั้นก็มีผลไม้ น้ำชา หรือเหล้าจีน และกระดาษเงินกระดาษทอง
          2. ชุดสำหรับไหว้บรรพบุรุษ คล้ายของไหว้เจ้าที่พร้อมด้วยกับข้าวที่บรรพบุรุษชอบ ตามธรรมเนียมต้องมีน้ำแกงหรือขนมน้ำใสๆ วางข้างชามข้าวสวย และน้ำชาจัดชุดตามจำนวนของบรรพบุรุษ ขาดไม่ได้ก็คือขนมเทียน ขนมเข่ง ผลไม้และกระดาษเงินกระดาษทอง
         3. ชุดสำหรับไหว้วิญญาณเร่ร่อนหรือวิญญาณไม่มีญาติ วิญญาณเร่ร่อนหรือวิญญาณไม่มีญาติ เรียกว่า ไป๊ฮ๊อเฮียตี๋ แปลว่า ไหว้พี่น้องที่ดี เป็นการสะท้อนความสุภาพและให้เกียรติของคนจีน เรียกผีไม่มีญาติว่าพี่น้องที่ดีของเรา โดยการไหว้จะไหว้นอกบ้านของไหว้จะมีทั้งของคาวหวานและผลไม้ตามต้องการและที่พิเศษคือมีข้าวหอมแบบจีนโบราณ คอปึ่ง เผือกนึ่งผ่าซีกเป็นเสี้ยวใส่ถาด เส้นหมี่ห่อใหญ่ เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทองจัดทุกอย่างวางอยู่ด้วยกันสำหรับเซ่นไหว้
ขนมที่ใช้ไหว้วันสารทจีน
          ในสมัยโบราณชาวจีนใช้ขนมไหว้ 5 อย่าง เรียกว่า โหงวเปี้ย หรือเรียกชื่อเป็นชุดว่า ปัง เปี้ย หมี่ มั่ว กี
          1. ปัง คือขนมทึงปัง เป็นขนมที่ทำมาจากน้ำตาล
          2. เปี้ย คือขนมหนึงเปี้ย คล้ายขนมไข่
          3. หมี่ คือขนมหมี่เท้า ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าข้างในไส้เต้าซา
          4. มั่ว คือขนมทึกกี่ เป็นขนมข้าวพองสีแดงตรงกลางมีไส้เป็นแผ่นบาง
          5. กี คือขนมทึงกี ทำเป็นชิ้นใหญ่ยาว เวลาจะกินต้องตัดเป็นชิ้นเล็กๆ
          แต่ชาวไทยเชื้อสายจีนใช้ขนมเทียน ขนมเข่งในการไหว้ โดยหลักของที่ไหว้ก็จะมีของคาว 3 หรือ 5 อย่าง เช่น ไก่ หมู เป็ด ไข่ หมึก ปลา เป็นต้น ของหวาน 3 หรือ 5 อย่าง เช่น ขนมเทียน ขนมมัดไต้ ขนมถ้วยฟู หรือขนมสาลี่ปุยฝ้าย ขนมเปี๊ยะ ส้ม หรือผลไม้ตามใจชอบ
         ประเพณีสารทจีนนอกจากจะเป็นประเพณีที่ลูกหลานจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษซึ่งล่วงลับไปแล้ว ยังเป็นประเพณีที่มีกุศโลบายในการสนับสนุนให้ทุกคนในครอบครัวทำกิจกรรมร่วมกันอย่างพร้อมหน้าและมีความสุข
ขอบคุณข้อมูลจาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น