วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

วันวิสาขบูชา 20/05/2559

วิสาขบูชา วันอัศจรรย์ของชาวพุทธ

วันวิสาขบูชา มีความหมายว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 แต่ถ้าปีใดมีอธีกมาส คือ มีเดือน 8 สองหนก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน 7
ความสำคัญของวันวิสาขบูชา เป็นวันที่เกิด 3 เหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า คือ ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน แม้แต่ละเหตุการณ์จะมีช่วงระยะเวลาห่างกันเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ก็เกิดขึ้นในวันเดียวกัน คือขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 นับเป็นสิ่งอัศจรรย์และถือเป็นวันสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของวันประสูติ พระนางสิริมหามายาได้ประสูติพระโอรสใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพิณีวัน ซึ่งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ในขณะที่นางเสด็จไปประทับ ณ กรุงเทวทหะเพื่อประสูติพระโอรสของนาง และเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ แต่ได้ประสูติพระโอรสเสียก่อน ในเช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของวันตรัสรู้ เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา หลังจากออกผนวชได้ 6 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในตอนเช้ามืดของวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของวันปรินิพพาน หลังจากตรัสรู้และแสดงธรรมเป็นเวลานานถึง 45 ปี จนพระชนมายุได้ 80 พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6

ประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชาในประเทศไทย

วันวิสาขบูชา มีหลักฐานปรากฏว่า ได้มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และมีการสันนิษฐานว่า ถูกเผยแพร่มาจากศรีลังกา กล่าวไว้ว่า ประมาณ พ.ศ. 420 กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธี วิสาขบูชา อย่างมโหฬารเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และสืบเนื่องต่อๆมาจนถึงปัจจุบัน
สมัยสุโขทัยนั้น พระสงฆ์ชาวลังกาได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศไทย จึงเชื่อได้ว่ามีการนำพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย
ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์สูงกว่าอำนาจของพุทธศาสนา จึงไม่มีหลักฐานปรากฏ ว่าได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีพระราชประสงค์ให้ฟื้นฟูการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นมาใหม่ โดยให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ
ดังนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน
ขอบคุณข้อมูลภาพจาก www.xn--89-lqic6g3a6b4acd2bh0b1bzc4cl3rc3ao6n.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น