ประวัติวันสุนทรภู่
ประวัติวันสุนทรภู่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสุนทรภู่ตั้งแต่เกิดตราบจนถึงวันสิ้นชีวิต
และประวัติ วันสุนทรภู่ ยังเป็นเรื่องราวว่าทำไมถึงต้องมีวันสุนทรภู่เป็นประจำทุกปีด้วย
หลายๆคนคงจะทราบกนดีอยู่แล้วว่าสุนทรภู่เป็นผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นและมีผลงานประพันธ์ที่มีคุณค่าแก่แผ่นดินมากมาย
และยังได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลกอีกด้วย
แต่ใครจะรู้ถึง ประวัติวันสุนทรภู่ ในเรื่องราววัยเด็ก ครอบครัว
และการทำงานของเขาจนประสบความสำเร็จนั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง
วันนี้เรามีประวัติวันสุนทรภู่ในช่วยวัยต่างๆมาบอกเล่าให้เพื่อนๆได้ฟังกันค่ะ
ประวัติวันสุนทรภู่
ประวัติวันสุนทรภู่
ประวัติสุนทรภู่
สุนทรภู่
มีชื่อเดิมว่า ภู่ เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาเช้า 2 โมง เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง
(ซึ่งเป็นบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบันนี้)
บิดาของสุนทรภู่ชื่อพ่อพลับเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
มารดาชื่อแม่ช้อยเป็นชาวเมืองฉะเชิงเทรา
(สันนิษฐานว่ามารดาเป็นข้าหลวงอยู่ในพระราชวังหลัง) เชื่อว่าหลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน
บิดามารดาก็หย่าร้างกัน บิดาออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำอันเป็นภูมิลำเนาเดิม
ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล
พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์
ดังนั้นสุนทรภู่จึงได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง
สุนทรภู่ยังมีน้องสาวต่างบิดาอีกสองคน ชื่อฉิมและนิ่ม
วัยเด็กสุนทรภู่ได้ร่ำเรียนหนังสือกับพระในสำนักวัดชีปะขาว
(ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามในรัชกาลที่ 4 ว่า วัดศรีสุดาราม อยู่ริมคลองบางกอกน้อย)
ต่อมาสุนทรภู่ได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน
แต่ไม่ชอบทำงานอื่น นอกจากแต่งบทกลอน
สุนทรภู่สามารถแต่งบทกลอนได้ดีตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่ม
เพราะตั้งแต่เยาว์วัยสุนทรภู่มีนิสัยรักการแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น
ครั้งรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดารามในคลองบางกอกน้อย
ก็ได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอนนิทานไว้
ต่อมาสุนทรภู่ลอบรักกับนางข้าหลวงในวังหลังคนหนึ่ง
ชื่อแม่จัน ซึ่งเป็นบุตรหลานผู้มีตระกูล
จึงถูกกรมพระราชวังหลังกริ้วจนถึงขั้นให้โบยและจำคุกคนทั้งสอง
แต่เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2349 จึงมีการอภัยโทษแก่ผู้ถูกลงโทษทั้งหมดถวายเป็นพระราชกุศล
หลังจากสุนทรภู่ออกจากคุก เขากับแม่จันก็เดินทางไปหาบิดาที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
การเดินทางครั้งนี้สุนทรภู่ได้แต่ง นิราศเมืองแกลง
พรรณนาสภาพการเดินทางต่างๆเอาไว้โดยละเอียด และลงท้ายเรื่องว่าแต่งมาให้แก่แม่จัน “เป็นขันหมากมิ่งมิตรพิสมัย” ในนิราศเมืองแกลงนี้ได้บันทึกสมณศักดิ์ของบิดาของสุนทรภู่ไว้ด้วยว่าเป็น
พระครูธรรมรังษี เจ้าอาวาสวัดป่ากร่ำ สุนทรภู่และแม่จันมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อ พ่อพัด ซึ่งได้อยู่ในความอุปการะของเจ้าครอกทองอยู่ ส่วนสุนทรภู่กับแม่จันก็มีเรื่องระหองระแหงกันเสมอจนภายหลังก็เลิกรากันไป
หลังจากนั้นสุนทรภู่ก็เดินทางเข้าพระราชวังหลัง
และมีโอกาสได้ติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ในฐานะมหาดเล็ก
ตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชาที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2350 และก็ได้แต่ง นิราศพระบาท พรรณนาเหตุการณ์ในการเดินทางคราวนี้ด้วย
และหลังจากแต่งนิราศพระบาทจบก็ไม่ปรากฏผลงานใดๆของสุนทรภู่อีกเลย
จนกระทั่งเข้ารับราชการในปีพ.ศ.
2359 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์
และสุนทรภู่เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นกวีที่ปรึกษาและคอยรับใช้ใกล้ชิด
เนื่องจากเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งกลอนบทละครในเรื่องรามเกียรติ์ติดขัดไม่มีผู้ใดต่อกลอนได้ต้องพระราชหฤทัย
จึงโปรดให้สุนทรภู่ทดลองแต่ง ปรากฏว่าแต่งได้ดีเป็นที่พอพระทัย
จึงทรงพระกรุณาฯเลื่อนให้เป็น ขุนสุนทรโวหาร
ต่อมาในราวพ.ศ. 2364 สุนทรภู่ต้องติดคุกเพราะเมาสุราอาละวาดและทำร้ายญาติผู้ใหญ่
แต่ติดอยู่ไม่นานก็พ้นโทษ
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงติดขัดบทพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทอง
ไม่มีใครแต่งได้ต้องพระทัย ทรงให้สุนทรภู่ทดลองแต่งก็เป็นที่พอพระราชหฤทัย
ภายหลังพ้นโทษสุนทรภู่ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าอาภรณ์
พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 และเชื่อกันว่าสุนทรภู่แต่งเรื่องสวัสดิรักษา
ในระหว่างรับราชการอยู่นี้สุนทรภู่แต่งงานใหม่กับแม่นิ่ม มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน
ชื่อพ่อตาบ
สุนทรภู่รับราชการได้เพียง
8 ปี เมื่อถึงปีพ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต
หลังจากนั้นสุนทรภู่ก็ออกบวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) เป็นเวลา 18 ปี ระหว่างนั้นได้ย้ายไปอยู่วัดต่างๆหลายแห่ง ได้แก่ วัดเลียบ
วัดแจ้ง วัดโพธิ์ วัดมหาธาตุ และวัดเทพธิดาราม
ซึ่งผลจากการที่ภิกษุภู่เดินทางธุดงค์ไปที่ต่างๆทั่วประเทศ
ปรากฏผลงานเป็นนิราศเรื่องต่างๆมากมาย
งานเขียนชิ้นสุดท้ายที่ภิกษุภู่แต่งไว้ก่อนลาสิกขาบท คือ รำพันพิลาป
โดยแต่งขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดารามในพ.ศ. 2385
ทั้งนี้ระหว่างที่ออกเดินทางธุดงค์ภิกษุภู่ได้รับการอุปการะจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจนพระองค์ประชวรสิ้นพระชนม์
สุนทรภู่จึงลาสิกขาบท รวมอายุพรรษาที่บวชได้ประมาณ 10 พรรษา
สุนทรภู่ตกระกำลำบากอยู่พักหนึ่งจึงกลับเข้าไปบวชอีกครั้งหนึ่ง แต่อยู่ได้เพียง 2 พรรษาก็ลาสิกขาบท และถวายตัวอยู่กับเจ้าฟ้าน้อย หรือ
สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระราชวังเดิม
สุนทรภู่รับราชการสนองพระเดชพระคุณทางด้านงานวรรณคดี และแต่งเสภาพระราชพงศาวดาร
บทเห่กล่อมพระบรรทม และบทละครเรื่อง อภัยนุราชถวาย รวมถึงยังแต่งเรื่องพระอภัยมณีถวายให้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพด้วย
เมื่อถึงปีพ.ศ. 2394 ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์
เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่วังหน้า (พระบวรราชวัง) สุนทรภู่จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร
มีบรรดาศักดิ์เป็น พระสุนทรโวหาร ช่วงระหว่างเวลานี้สุนทรภู่ได้แต่งนิราศเพิ่มอีก 2 เรื่อง คือ นิราศพระประธม และ นิราศเมืองเพชร
สุนทรภู่พำนักอยู่ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอนั่งของพระยามนเทียรบาล (บัว) มีห้องส่วนตัวเป็นห้องพักกั้นเฟี้ยมที่เรียกชื่อกันว่า
ห้องสุนทรภู่ เชื่อกันว่าสุนทรภู่พำนักอยู่ที่นี่ตราบจนสิ้นชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2398 สิริรวมอายุได้ 69 ปี
ทายาทของสุนทรภู่เชื่อกันว่าสุนทรภู่มีบุตรชาย
3 คน คือ พ่อพัด เกิดจากภรรยาคนแรกคือแม่จัน พ่อตาบ เกิดจากภรรยาคนที่สองคือแม่นิ่ม
และ พ่อนิล เกิดจากภรรยาที่ชื่อแม่ม่วง นอกจากนี้ปรากฏชื่อบุตรบุญธรรมอีกสองคน
ชื่อ พ่อกลั่น และ พ่อชุบ อย่างไรก็ตาม
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น
และตระกูลของสุนทรภู่ได้ใช้นามสกุลต่อมาว่า ภู่เรือหงส์
ประวัติที่มาของวันสุนทรภู่
องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
(UNESCO) เป็นผู้มีหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานด้านวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกต่างๆทั่วโลก
ด้วยการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลกในวาระครบรอบ
100 ปีขึ้นไปประจำทุกปี
เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลกให้ปรากฏแก่มวลสมาชิกทั่วโลก
และเพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองร่วมกับประเทศที่มีผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ
ในการนี้รัฐบาลไทยโดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้สืบค้นบรรพบุรุษไทยผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม
เพื่อให้ยูเนสโกประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและได้ประกาศยกย่อง
สุนทรภู่ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก โดยในวาระครบรอบ 200 ปี เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2529 ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 นายเสวตร
เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้น
เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับชีวิตและงานของสุนทรภู่ให้แพร่หลายในหมู่เยาวชนและประชาชนชาวไทยมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นทางรัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีเป็น วันสุนทรภู่นับแต่นั้น
เมื่อถึงวันสุนทรภู่จะมีการจัดงานรำลึกถึงสุนทรภู่ตามสถานที่ต่างๆ เช่น
ที่พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ ณ วัดเทพธิดาราม และ ที่จังหวัดระยอง และมีการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมศิลปะการประพันธ์บทกวีจากองค์กรต่างๆโดยทั่วไป
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : http://www.manager.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น