วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

อวัยวะในร่างกาย.... อายุก็ไม่เท่ากัน !!

รู้มั้ยคะ ??
อวัยวะในร่างกาย.... อายุก็ไม่เท่ากัน !!



• “ลำไส้” กี่ขดก็อายุราว 2-3 วัน
หลังจากที่เรากินอาหารเข้าไป ฟันบดเคี้ยวอาหารให้ฉีกขาด กระเพาะอาหารใส่น้ำย่อยลงไปคลุกเคล้าอาหารให้ละเอียดเหลว แล้วจึงส่งผ่านไปยังลำไส้เล็กให้ดูดซึมอาหารเข้าสู่ร่างกาย
ลำไส้ดูดซึมอาหารด้วยการใช้ วิลไล(Villi) เส้นขนเล็กๆ ที่มีอยู่ตลอดตามผนังลำไส้ ดูดซึมสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือด วิลไลเป็นตัวหลักในการจับสารอาหารที่ผ่านเข้ามา ตัวมันต้องเจอกับน้ำย่อยที่ย่อยอาหาร มันทำงานหนัก จึงต้องมีการสร้างใหม่อยู่ทุก ๆ 2-3 วัน
ภายในลำไส้ยังมีเมือกเคลือบลำไส้ เพื่อให้การไหลเวียนของสารอาหารเป็นไปอย่างสมบูรณ์ เมือกลื่นเหล่านี้ก็หนีไม่พ้นกรดอันรุนแรงของน้ำย่อยในร่างกาย มันทำหน้าที่ป้องกันลำไส้ ตัวมันเองจึงต้องสร้างใหม่ทุกๆ 3-5 วัน

• “ลิ้น” ตุ่มรับรส อายุ 10 วัน
อาหารอร่อยไม่อร่อยก็อยู่ที่เจ้าตุ่มในลิ้นรับรสที่ส่งข้อมูลไปให้สมอง ว่าสิ่งที่ใส่เข้าไปในปากรสชาติเปรี้ยวหวานมันเค็มอย่างไร เพราะเจ้าตุ่มพวกนี้มีมากกว่า 9,000 ตุ่มที่อยู่ติดลิ้นของเรา คอยรับรสต่างๆ
สิ่งที่ต้องระมัดระวังให้มากคือ ตุ่มรับรสพวกนี้จะอักเสบได้ง่าย คนที่ชอบสูบบุหรี่ การติดเชื้อจะทำลายตุ่มรับรสเหล่านี้ และทำให้การสร้างใหม่มาทดแทนทำได้ยากขึ้น หรือทำให้ลิ้นเรามีการรับรสที่ไม่ดี กินไม่อร่อย

• “กระดูก” แข็งไม่แข็ง อายุเฉลี่ย 10 ปี
ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกออกมาอธิบายว่า ปกติกระดูกในร่างกายเราจะมีการสร้างทดแทนอยู่เสมอ กระบวนการสร้างทดแทนตัวเองนี้จะสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์จะใช้เวลาประมาณ 10 ปี
เนื้อกระดูกเก่าในร่างกายจะมีการสูญเสียไปเป็นระยะ แต่ร่างกายก็สามารถสร้างกลับมาทดแทนได้ดีเหมือนเก่า ในร่างกายเราจะมีกระดูกใหม่กับกระดูกเก่าประกอบอยู่ด้วยกันเสมอ
แต่เมื่อถึงวัยกลางคน การสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมาทดแทนจะทำไม่ทันเท่ากับความเสื่อมของกระดูกเก่า เนื้อกระดูกเราก็จะบางลง และเป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุน ที่ชาววัยทองเป็นกันแทบทุกคน

• “ผิวหนัง” ไม่ว่าดำหรือขาว อายุเฉลี่ย 2-4 สัปดาห์
ผิวชั้นนอกหรือที่เรียกว่าอิพิเดอร์มิส เป็นส่วนที่ปกป้องอวัยวะภายในร่างกายของเรา ซึ่งต้องเจอกับแสงแดด แสงยูวีที่ทำลายผิว มลภาวะที่แย่ลงทุกวัน ผิวชั้นนอกจึงต้องมีการสร้างใหม่ทดแทนอยู่ทุก ๆ 2- 4 สัปดาห์ แต่การที่ผิวสร้างใหม่ไม่ได้ทำให้ผิวเราสดใสหรือเต่งตึงตลอดไป เพราะร่างกายเราเมื่อมีอายุมากขึ้น จะสูญเสียคอลลาเจนใต้ผิว ทำให้ขาดความยืดหยุ่นที่ดี และขาดอีลาสตินทำให้ผิวเหี่ยวย่นเมื่อแก่

• “เล็บ” มีอายุ 6-10 สัปดาห์
เล็บเท้าเล็บมืองอกช้าเร็วไม่เท่ากัน ค่าเฉลี่ยความยาวของเล็บมือ เดือนละ 3.4 มิลลิเมตร เร็วกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับเล็บเท้า ไม่น่าแปลกใจเมื่อเราตัดเล็บอยู่บ่อยๆ เพราะเล็บมือต้องตัดบ่อยกว่าเป็นประจำ

ข้อมูล (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 145 มกราคม 2556 )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น