วันพุธที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2557

วัดเชียงทอง / Admin SD (Tonan Asia Autotech)



                                                    
  
ที่ตั้ง :  ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองหลวงพระบาง ใกล้บริเวณที่แม่น้ำคานไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง 

ปีที่สร้าง :  พ.ศ. 2102 – 2103

รัชสมัย :  พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช

เวลาเปิดปิด : 06.00 a.m. – 05.30 p.m.

ค่าธรรมเนียมเข้าชม :  20.000 Kip/คน  

                                                    

  
ไฮไลท์ของการมาเยือนเมืองหลวงพระบางคงหนีไม่พ้นการได้มาเที่ยวชม "วัดเชียงทอง" ซึ่งเป็นวัดที่สำคัญและมีความงดงามที่สุดแห่งนี้ จนได้รับการยกย่องจากนักโบราณคดีว่าเป็นดั่งอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาว วัดเชียงทองถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช หลังจากสร้างวัดนี้ไม่นานพระองค์ก็ทรงย้ายเมืองหลวงไปยังนครเวียงจันทน์ และวัดนี้ยังได้รับการอุปถัมภ์ดูแลจากเจ้ามหาชีวิตสว่างวงศ์และเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา


กษัตริย์สองพระองค์สุดท้ายของลาว เมื่อเดินทางมาถึงวัดนี้สิ่งแรกก็คือการไปชมพระอุโบสถหรือที่ภาษาลาวเรียกว่าสิม แม้ขนาดจะดูไม่ใหญ่โตแต่ก็แสดงถึงสถาปัตยกรรมทางศาสนาแบบหลวงพระบางแท้ๆ ด้วยหลังคาพระอุโบสถที่แอ่นโค้งซ้อนกันอยู่ 3 ชั้น ลดหลั่นเกือบจรดฐานจนแลดูค่อนข้างเตี้ย ส่วนกลางของหลังคามีเครื่องยอดสีทองซึ่งชาวลาวจะเรียกว่าช่อฟ้า ประกอบด้วย  17  ช่อ อันมีความหมายว่าเป็น

 
            
สิม (หรืออุโบสถ) ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้น ส่วน สิม ที่คนสามัญสร้างจะมีช่อฟ้าเพียง  1-7  ช่อเท่านั้น เชื่อกันว่าบริเวณช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ตรงกลางของช่อฟ้าเคยใช้เป็นที่เก็บของมีค่า ปัจจุบันเหลือเพียงช่องว่างเปล่าๆ ถัดมาที่ส่วนของหน้าบันมี  โหง่ รูปร่างคล้ายเศียรนาคเป็นส่วนประดับตามคติธรรมทางพุทธศาสนาเมื่อเดินเข้าต่อมาที่ประตูพระอุโบสถจะสะดุดตากับลวดลายแกะสลักอันสวยงามเช่นเดียวกับที่หน้าต่าง

                                                   

ผนังภายในก็สวยงามด้วยลวดลายปิดทองฉลุบนพื้นรักสีดำ เล่าเรื่องพุทธประวัติพระสุธน-มโนราห์ ทศชาติชาดกและภาพนิทานเพื่อนบ้าน ลึกเข้าไปคือพระประธานซึ่งมีชื่อว่า พระองค์หลวง นอกจากวัดเชียงทองจะมีพระอุโบสถที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบล้านช้างแล้ว การตกแต่งลวดลายตามผนังภายในก็สวยงามไม่แพ้กัน อย่างบริเวณผนังด้านหลังของพระอุโบสถก็มีการตบแต่งด้วยการนำกระจกสีมาตัดต่อกันเป็นรูปต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ ด้านข้างก็ติดเป็นรูปสัตว์ในวรรคดี ยามบ่ายที่แสงแดดส่องสะท้อนลงมาดูงดงาม  

               
ถัดมาบริเวณด้านข้างและด้านหลังของพระอุโบสถเป็นที่ตั้งของวิหารเล็กๆ 2 หลัง จุดเด่นของวิหารด้านหน้าคือ  ที่ผนังด้านนอกแต่ละหลังตกแต่งด้วยกระจกสีตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาต่อกันเป็นรูปร่างต่างๆ เล่าเป้นนิทานพื้นบ้านลงบนผนังสีชมพู ดูสวยงามน่ารักตามแบบฉบับชาวหลวงพระบางเลยทีเดียว วิหารหลังเล็กด้านข้างพระอุโบสถที่มีชื่อว่า  วิหารแดง” ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่งดงาม

                   



ด้วยพระหัตถ์ที่รองรับพระเศียรไว้อย่างสง่างามและอ่อนช้อย พระพุทธรูปนี้เคยนำไปจัดแสดงที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในปีพ.ศ. 2474 และไปประดิษฐานอยู่ที่นครเวียงจันทน์หลายสิบปี  ก่อนนำกลับมายังหลวงพระบางในปีพ.ศ. 2507 ส่วนวิหารด้านหลังพระอุโบสถคือ หอพระม่าน ภายในประดิษฐาน พระม่าน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ "พระบาง" จนหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นองค์เดียวกัน


ในช่วงวันบุญขึ้นปีใหม่ของลาว(ช่วงวันสงกรานต์) จะมีการอัญเชิญ  พระม่าน ลงมาเพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำและกราบไหว้ เรื่องราวภายในผนังด้านหลังวิหารนี้เป็นภาพประดับกระจกสีเล่าเรื่องวิถีชีวิตของผู้คน สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2493 เพื่อเฉลิมฉลองที่โลกก้าวสู่ยุคกึ่งพุทธกาล ด้านหลังหอพระม่าน เป็นที่ตั้งของพระธาตุศรีสว่างวงศ์ ซึ่งเป็นที่เก็บอัฐิของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์และด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดกับรั้วเป็นโรงเก็บเรือใกล้กับริมแม่น้ำโขง  ส่วนด้านหน้าพระอุโบสถเป็นที่ตั้งของหอกลองมีลวดลายลงรักปิดทองสวยงามบนเสา นอกจากนั้นในบริเวณวัดเชียงทองเมื่อท่านเดินเข้าไปทางด้านถนนโพธิสารราช ด้านขวามือจะต้องสะดุดตากับอาคารทรงโบราณมีลวดลายแกะสลักทาสีทองอร่าม


                                                   

ขนาดใหญ่ซึ่งคนลาวเรียกว่า โรงเมี้ยนโกศหรือเป็นโรงเก็บพระโกศพระราชรถ, ราชยานของเจ้าชีวิตศรีสว่างวัฒนา ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อปีพ.ศ. 2502 และได้สร้างโรงเมี้ยนโกศแห่งนี้ขึ้นในปีพ.ศ. 2505 ภายในมีลักษณะเป็นโถงกว้าง ผนังด้านหน้าตั้งแต่หน้าบันลงมาจนถึงพื้นสามารถถอดออกเพื่อให้สามารถเคลื่อนราชรถออกมาได้ บริเวณกลางโรงเมี้ยนโกศเป็นที่ตั้งของราชรถไม้แกะสลักปิดทองคำเปลวรอบคัน มีพระโกศ 3 องค์  ตรงกลางเป็นโกศองค์ใหญ่



ของเจ้าศรีสว่างวัฒนา องค์เล็กด้านหลังเป็นของพระราชมารดา ส่วนองค์เล็กด้านหน้าเป็นของพระเจ้าอา โรงเมี้ยนโกศนี้ออกแบบโดยเจ้ามณีวงศ์ และแกะสลักโดยช่างหลวงพระบางที่ชื่อ เพียตัน เมื่อครั้งที่รับราชการอยู่ในพระมหาราชวัง นับเป็นช่างฝีมือชั้นเอกประจำพระองค์ของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา มีความชำนาญทั้งด้านงานเขียนและงานแกะสลัก จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของโรงเมี้ยนโกศ คือบริเวณผนังด้านนอกที่ เพียตัน แกะสลักไว้อย่างงดงามลงด้วยสีทองสุก เล่าเรื่องรามเกียรติ์ตอนสำคัญๆ เช่นด้านบนสุดเป็นตอนพิเภกกำลังบอกความลับเรื่องที่ซ่อนหัวใจของทศกัณฑ์กับพระรามพระลักษณ์และนางสีดา ถัดลงมาเป็นตอนที่ทศกัณฑ์ต้องศรของพระรามเสียบเข้าที่หัวใจ เป็นต้น เดิมที่ภาพแกะสลักเหล่านี้เป็นลักษณะการลงรักปิดทองที่สวยงามต่อมามีการบูรณะใหม่ โดยทาสีทองทับลงไปดังที่เห็นในปัจจุบัน นอกจากนี้ภายในวัดเชียงทองยังมีเขตสังฆาวาส ประกอบด้วยกุฏิสถูปเจดีย์ ดัง                เช่นวัดทั่วๆ ไปและยังมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น