ในบรรดาผักชนิดต่างๆ ที่ชาวไทยรู้จักและคุ้นเคยอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น มีอยู่หลายชนิดที่คนไทยส่วนใหญ่คิดว่าเป็นผักพื้นบ้านดั้งเดิมและมีกำเนิดอยู่ในประเทศไทยแต่ความจริงเป็นผักที่นำเข้ามาจากต่างประเทศนานมาแล้วบ้างหรือเพิ่งนำเข้ามาไม่นานนักบ้างแต่การนำเข้ามานั้นกระทำอย่างไม่เป็นทางการหรือไม่มีบันทึกเป็นหลักฐานเอาไว้อย่างชัดเจน จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้น ผักบางชนิดได้รับการตั้งชื่อที่บ่งบอกว่ามาจากต่างประเทศ เช่น มะเขือเทศและผักโขมจีน เป็นต้น แต่ยังมีผักจากต่างประเทศอีกหลายชนิดไม่มีชื่อบ่งบอกว่ามาจากต่างแดน เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว กระเทียม เป็นต้น รวมทั้งผักที่นิยมปลูกเป็นสวนครัวด้วย เช่น ผักที่คนไทยเรียกว่า สะระแหน่
สะระแหน่ : ชื่อไทยของผักจากต่างแดน
ประวัติสะระแหน่ตามคำบอกเล่าของศาตราจารย์อินทรีจันทรสถิตดังกล่าวนี้ น่าจะใกล้เคียงความจริงมากพอสมควรเพราะเมื่อตรวจดูหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ.๒๔๑๖ ของหมอปลัดเล ซึ่งเป็นช่วงรัชกาลที่ ๔ ปรากฏว่าไม่พบชื่อสะระแหน่เลยแสดงว่าขณะนั้น (๒๔๑๖) สะระแหน่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ซึ่งอาจเป็นเพราะสะระแหน่ยังไม่เข้ามาในเมืองไทยหรือเพิ่งเข้ามาไม่นานก็เป็นได้
สะระแหน่เป็นพืชในวงศ์ Labiatae เช่นเดียวกับ กะเพรา โหระพา และแมงลักแต่อยู่ในสกุล (Genus) มินต์ (Mint) ซึ่งมีอยู่หลายชนิดและเป็นพืชที่แพร่หลายในเขตอบอุ่นเพราะเป็นพืชที่มีน้ำมันหอมระเหย อันประกอบด้วยสารเมนธอล (Menthol) อยู่สูง
สะระแหน่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ยังไม่เป็นที่ตกลงกันแน่ชัด เดิมใช้ว่า Mentha aruensis Linn แต่ผู้รู้บางท่านแย้งว่า M.aruensis เป็นชื่อของมินต์ญี่ปุ่นที่แตกต่างจากสะระแหน่มาก ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานใช้ชื่อ Mentha cordifolia Opis บ้างก็ใช้ Mentha virdis, Mentha spicata var crispa, Mentha crispa และ Mentha candifolia varcrispa เป็นต้น ในบรรดาชื่อเหล่านี้ผู้เขียนไม่สามารถตัดสินได้ว่าชื่อใดเป็นชื่อที่แท้จริงของสะระแหน่ ดังนั้นหากผู้อ่านท่านใดทราบก็ขอได้แจ้งมาให้ผู้เขียนรู้บ้างเพื่อเป็นวิทยาทานและเผยแพร่สู่ผู้อ่านท่านอื่นต่อไป
สะระแหน่เป็นพืชล้มลุกลำต้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมเลื้อยไปบนดินหรือใต้ดินขยายกิ่งก้านสาขาออกไปโดยใช้ไหลหรือลำต้นใต้ดิน ใบรูปกลม ขอบใบหยัก ไม่มีขน ดอกเกิดบนช่อดอก กลีบดอกสีขาว ปกติสะระแหน่ในประเทศไทยไม่ค่อยออกดอก แต่เราสามารถกระตุ้นให้ออกดอกได้โดยเปิดไฟให้สะระแหน่ได้รับแสงวันละไม่ต่ำกว่า ๑๖ ชั่วโมง ติดต่อกันประมาณ ๓๐ วัน
ชื่อภาษาอังกฤษของสะระแหน่ คือ Kitchen Mint ภาษาไทยภาคกลาง คือ สะระแหน่ หรือสะระแหน่สวน ภาคเหนือและอีสานเรียก หอมค่อน ส่วนภาคใต้เรียก สะแน่
สะระแหน่เป็นพืชขนาดเล็กที่มีรูปทรงและสีสันงดงาม แปลกตาและมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว จึงใช้เป็นไม้ประดับได้ดี ไม่ว่าจะปลูกในกระถางหรือปลูกเป็นแปลงประดับสวนหย่อม นอกจากนี้ยังปลูกเป็นไม้แขวนได้ดี เพราะมีกิ่งที่ทั้งดั้งขึ้นและห้อยลง ปรับตัวเข้ากับสภาพแสงได้ ทั้งกลางแจ้งและร่มรำไร มีเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับสะระแหน่ที่ยังไม่ทราบความเป็นมาคือ คนไทยมักมีคำพูดล้อเลียนเจ้าของรถยนต์เก่าที่มีสภาพทรุดโทรมหรือผุพังว่า น่าจะนำรถยนต์คันนั้นไปใช้ปลูกสะระแหน่ ผู้เขียนยังนึกไม่ออกว่า ทำไมจะต้องนำไปปลูกสะระแหน่โดยเฉพาะ หรือว่ามีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถเก่าสำหรับปลูกสะระแหน่ ฯลฯ ผู้เขียนได้ยินคำกล่าวนี้มานานแล้ว และปัจจุบันก็ยังได้ยินอยู่เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะเจ้าของรถยนต์เก่าๆ) ก็คงได้ยินเช่นเดียวกัน หากผู้อ่านท่านใดทราบความเป็นมาของเรื่องนี้แล้วช่วยบอกมาเป็นวิทยาทานอีกเรื่องหนึ่ง ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
มีความเชื่อที่ไม่ค่อยถูกต้องเกี่ยวกับสะระแหน่บางประการในหมู่ชาวไทยเช่นเชื่อว่าสะระแหน่เป็นพืชปลูกยากบ้าง สะระแหน่ไม่ชอบผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือนบ้าง ความจริงสะระแหน่พันธุ์ที่ปลูกกันอยู่นี้เข้ามาอยู่เมืองไทยกว่าร้อยปีแล้ว จึงปรับตัวเข้ากับสภาพดินฟ้าอากาศเมืองไทยได้ดีพอสมควร หากผู้ปลูกเข้าใจธรรมชาติหรือนิสัยของสะระแหน่แล้วจะปลูกสะระแหน่ให้งามได้ไม่ยากเลย สำหรับผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือนนั้นก็มิได้เป็นอันตรายต่อสะระแหน่แต่อย่างใด ในขณะเดียวกับผู้ชาย (ที่มี่ประจำเดือน)ก็ไม่ใช่ผู้ที่จะปลูกสะระแหน่ได้ดีกว่าผู้หญิงเลย แม้สะระแหน่จะได้ชื่อมาจากผู้ชาย (ฝรั่ง) ก็ตาม
สะระแหน่ในฐานะผักไทย
คนไทยรู้จักสะระแหน่ในฐานะเครื่องปรุงกลิ่นอาหารมากกว่าในฐานะผักโดยตรงเพราะสะระแหน่มีกลิ่นรสฉุนเผ็ดกว่าผักทั่วไปจึงใช้กินเป็นผักโดยตรงไม่มากเท่าการใช้ปรุงอาหารเพื่อดับกลิ่นหรือเพิ่มรสชาติของอาหารรสจัดที่เรียกกันว่าอาหารรสแซ่บอาหารที่ใช้สะระแหน่กินเป็นผักโดยตรงที่นิยมกันดีก็มีเพียงใช้เป็นผักแกล้มลาบและกินกับขนมจีนน้ำยา ปลาร้าเท่านั้น ส่วนการใช้ปรุงกลิ่นรสอาหารหรือดับกลิ่นคาวนั้นใช้กันมาก เช่น ดับกลิ่นคาวเนื้อหรือปลา กับข้าวจำพวกยำต่างๆ เช่น ยำกบย่าง ยำสามสหาย ยำหอยแครง ยำหอยแมลงภู่ ยำปลากระป๋อง ยำหนังหมู ยำไก่ย่าง ยำไข่ต้ม ยำผ้าขี้ริ้ว ยำเนื้อมะเขือเปราะ ยำแหนม ฯลฯ ลาบต่างๆ เช่น ลาบหมู ลาบเลือดเป็ด ลาบปลาดุก ลาบเลือด (ซกเล็ก) เป็นต้น จำพวกซุป เช่น ซุปมะเขือ ซุปขนุนอ่อน ซุปหน่อไม้ นอกจากนี้ยังมี พล่ากุ้ง เมี่ยงสด น้ำพริกมะเขือยาว และ ไก่ต้มยำ ฯลฯ
สมุนไพร
แม้สะระแหน่จะเพิ่งเข้ามาในเมืองไทยได้ไม่ถึง ๒๐๐ ปี แต่แพทย์แผนไทย (บางท่านเรียกแพทย์แผนโบราณ) ที่นำเอาสะระแหน่มาปรุงเป็นยารักษาโรคได้หลายขนาน โดยระบุสรรพคุณว่า กลิ่นฉุนหอมร้อน สรรพคุณ แก้ปวดท้อง แก้จุกเสียด ขับผายลม แก้แน่น แก้ไอ ขับเสมหะ ขยี้ทาขมับ แก้ปวดศีรษะ ดมแก้ลม ทาแก้ฟกบวม ฯลฯ
นอกจากนี้ยังใช้เป็นกระสายแทรกแก้โรคเด็ก เช่น ทรางชัก และช่วยให้ผายลมได้ดี ลดอาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อ นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า สะระแหน่มีตัวยาบีบมดลูก อาจช่วยให้พัฒนายาทำแท้งจากพืชสำหรับมนุษย์ได้ในอนาคต
ประโยชน์ด้านอื่นๆ
สะระแหน่มีน้ำมันหอมระเหยอยู่มาก สามารถสกัดออกมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมยา เป็นต้น เนื่องจากสะระแหน่เป็นพืชในสกุลมินต์ จึงมีกลิ่นคล้ายเมนทอล อันเป็นส่วนประกอบสำคัญของลูกอมประเภทรสเย็นทั้งหลาย แม้สะระแหน่ไทยจะมีส่วนประกอบของเมนทอลอยู่ในน้ำมันหอมระเหยน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับมินต์ชนิดอื่นๆ แต่สะระแหน่ก็มีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ดีเด่นไม่แพ้มินต์ชนิดใด อนาคตคงมีการพัฒนานำเอากลิ่นสะระแหน่ไปใช้ประโยชน์แก่มนุษย์ได้กว้างขวางยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ตามความก้าวหน้าของวิทยาการ และความนิยมผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น
แหล่งที่มา : facebook มูลนิธิหมอชาวบ้าน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น