วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2558

ขงเบ้งสอนเล่าปี่เกี่ยวกับเทคนิคการบริหารเวลา / Admin SD (Tonan Asia Autotech)

ครั้งหนึ่งเล่าปี่ขอขงเบ้งให้แนะนำวิธีสร้างตนให้เป็นมหาเศรษฐีแห่งดินแดน  ขงเบ้งว่างานใหญ่เช่นนี้ต้องวางแผนและรู้จักบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ
เล่าปี่กล่าวว่า “ ข้าฯ เห็นด้วยในหลักการแต่ทว่าข้าฯมีงานมากมายที่ต้องทำทุกวันจนเวียนเกล้าเวียนศีรษะ ไม่เคยมีเวลาพอที่จะจัดการทุกสิ่งทุกอย่างได้เลย “
ขงเบ้งบอกลูกน้องให้ไปเตรียมก้อนหิน ก้อนกรวด ก้อนทราย และน้ำจำนวนหนึ่งพร้อมถังเหล็กใหญ่หนึ่งใบ
เล่าปี่ถามด้วยความแปลกใจ “ ท่านเตรียมสิ่งเหล่านี้ไว้เพื่ออะไร ”
ขงเบ้งยิ้มอย่างมีเลศนัยพร้อมกับตอบด้วยคำถามว่า “ท่านบริหารเวลาด้วยวิธีใด”
เล่าปี่ตอบว่า ข้าฯเคยคิดว่าข้าฯมีเทคนิคที่ดีอยู่แล้วคือใช้วิธีมอบหมาย ข้าฯมีผู้ช่วยอยู่รอบด้านตั้งแต่กวนอู เตียวหุย เจ้าหยุน ฯลฯ ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ด้านต่างๆ แต่งานทั้งหลายก็ยังพันกันอีนุงตุงนัง ไม่สามารถปรับให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีขึ้นได้ เดิมข้าฯคิดว่าข้าฯ คือ แมลงวันไม่มีหัวอยู่ตัวเดียว แต่หลังการใช้ระบบมอบหมายงานกลับกลายเป็นว่า ปัจจุบันมีแมลงวันหัวขาดเป็นฝูง”

ขงเบ้งฟังแล้วจึงเริ่มอธิบายว่า “ เทคนิคการบริหารเวลาสามารถแบ่งเป็นสูง กลาง และต่ำ สามขั้น  ขั้นต่ำเน้นการใช้เศษกระดาษบันทึก  ขั้นกลางเน้นการใช้แผนดำเนินงาน และตารางโปรแกรมประจำวันซึ่งสะท้อนความสำคัญของการวางแผน ส่วนขั้นสูงเน้นการจัดการโดยแบ่งแยกประเภทของหน้าที่การงานตามดีกรีความสำคัญของงาน เพื่อพิจารณาลำดับความเร่งด่วนในการจัดการงานดังกล่าว  ทั้งสามขั้นต่างมีเรื่องการมอบหมายงานเกี่ยวข้องอยู่ด้วยตามความต้องการของปริมาณและลักษณะเฉพาะของงานแต่ละชิ้น ”

เล่าปี่สารภาพว่า “ หากพิจารณาตามการแบ่งขั้นของเทคนิคการบริหารเวลาแล้ว ข้าฯ ยอมรับว่าวิธีของข้าฯอยู่ที่ขั้นต่ำ เพราะใช้แค่สลิปบันทึก”

ขงเบ้งชี้ไปที่ถังเหล็กกับกองวัสดุที่ผู้ช่วยได้เตรียมไว้มุมห้องพร้อมกล่าวว่า “ คำตอบของการบริหารขั้นสูงอยู่ในถังเหล็กใบใหญ่นี่แหละ!  ความจุของถังใบนี้ เปรียบเสมือนขีดความสามารถของคนคนหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง ก้อนกรวดเปรียบได้กับงานที่สำคัญและเร่งด่วน  ก้อนหินคือภาระที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน  เม็ดทรายเปรียบได้กับภาระที่เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ และน้ำคือหน้าที่ที่ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน ”  ขงเบ้งอธิบายพลางวาดผังประกอบคำอธิบายดังตารางประกอบด้านล่างนี้
             
สำคัญและเร่งด่วน
 ก. งานประเภทก้อนกรวด, วิกฤติการณ์ , ปัญหาประชิดตัว, งานที่มีเวลากำหนดแน่นอน   

สำคัญและไม่เร่งด่วน                                                             
 ข. งานประเภทก้อนหิน, โครงการใหม่/การริเริ่มใหม่, กฎระเบียบ,  การปฏิรูปประสิทธิภาพการผลิต,      การสร้างความสัมพันธ์กับหุ้นส่วน,  มาตรการการป้องปราม
                                                                                   
ไม่สำคัญและเร่งด่วน    
 ค. งานประเภทเม็ดทราย,  รับรองแขกที่ไม่ได้รับเชิญ,   จัดการกับจดหมาย เอกสารโทรศัพท์ทั่วไป,  เข้าประชุมและกิจกรรมทั่วไปที่ไม่สำคัญ 

 ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน  
 ง.  งานประเภทน้ำ, งานจุกจิกทั่วไปที่ทำหรือไม่ทำก็ได้,  งานเลี้ยงสังสรรค์ทั่วไปที่ไม่จำเป็น,
  กิจกรรมที่น่าสนใจทั่วไป                                                               
                                      
“ ปกติท่านเน้นงานประเภทใด ”  ขงเบ้งถาม
“ ก็ต้องเป็นประเภท ก.  ”  เล่าปี่ตอบอย่างไม่ลังเล
“ แล้วงานประเภท ข. ล่ะ ”   ขงเบ้งถามต่อไป
เล่าปี่ตอบว่า “ ข้าฯ ตระหนักถึงความสำคัญของงานประเภท ข. แต่ไม่มีเวลาพอที่จะสนใจมัน”
“ เป็นอย่างนี้ใช่ไหม ”  ขงเบ้งถามพลางใส่กรวดลงไปในถังเหล็กจนเต็มแล้วพยายาม
ใส่ก้อนหินตามซึ่งใส่ไม่ได้  เล่าปี่ตอบว่า “ ใช่ “

“ และหากเปลี่ยนวิธีบรรจุใหม่ล่ะ ”   ขงเบ้งถามต่อพลางใส่ก้อนหินทีละก้อนเข้าไปในถังก่อนจนใส่ไม่ได้แล้วจึงถามเล่าปี่อีกว่า  “ ตอนนี้ถังเหล็กเต็มแล้วจะใส่ลงไปอีกไม่ได้ใช่ไหม? ”   ซึ่งเล่าปี่ตอบว่า “ ใช่ “
“ จริงหรือ ? ”  ขงเบ้งถามแล้วหยิบก้อนกรวดใส่เข้าไปข้างบนถังแล้วเขย่าให้ก้อนกรวดตกลงไปในถังจนหมด  “ บัดนี้ถังเหล็กใบนี้ใส่อะไรลงไปอีกได้หรือไม่? ” ขงเบ้งพูดพลางเทเม็ดทรายลงไปจนหมด  “ แล้วทีนี้ล่ะ ใส่อะไรลงไปอีกได้ไหม ? ”  ขงเบ้งถามต่อ แต่ก่อนที่เล่าปี่มีโอกาสตอบ ขงเบ้งก็ตักน้ำที่เตรียมไว้ใส่ลงไปในถังเหล็กอีกจนหมด  “ ตอนนี้ท่านเข้าใจความหมายของการทดลองนี้หรือยัง ? ” เล่าปี่ตอบว่า “ เข้าใจแล้ว นี่คือสิ่งที่ท่านกล่าวถึงเมื่อสักครู่เกี่ยวกับการจัดการแบบแยกประเภทและเลือกการจัดการก่อนหลังใช่ไหม ? ”

ขงเบ้งตอบว่า “ ใช่แล้ว  การทดลองชี้ให้เห็นว่าหากถังเหล็กตั้งแต่แรกก็เติมเต็มด้วยก้อนกรวด ทราย  และน้ำ  ก็คงไม่มีโอกาสใส่ก้อนหินลงไปได้  แต่ถ้าใส่ก้อนหินลงไปก่อน  ในถังยังมีเนื้อที่ที่จะใส่สิ่งอื่นๆเข้าไปได้อีก ดังนั้น การบริหารเวลาที่ได้ผลต้องดูว่า อะไรคือก้อนหิน อะไรคือก้อนกรวด เม็ดทรายและน้ำ และไม่ว่าจะเป็นประการใดก็ต้องใส่ก้อนหินลงไปในถังเป็นอันดับแรก ”
เล่าปี่ยังถามว่า “ แล้วการวิเคราะห์แยกแยะเรื่องต่างๆออกเป็นสี่หมวดนี้มีผลอย่างไร ”
ขงเบ้งตอบว่า “ บุคคลจำพวกที่ว้าวุ่นอยู่กับเรื่องราวประเภทก้อนกรวดย่อมมีความรู้สึกถูกเวลากดดันและวนเวียนอยู่ในแดนวิกฤตจนอ่อนล้า  พวกที่เน้นเรื่องประเภทเม็ดทรายจะขาดพลังสร้างสรรค์  ชอบฟังคำพูดเพราะหู คบคนแบบผิวเผิน  พวกที่นิยมเรื่องราวประเภทน้ำมักบกพร่องเรื่องสำนึกรับผิดชอบแม้กระทั่งเรื่องสารทุกข์สุกดิบของตนเอง ”

เล่าปี่ถามว่า “เป็นไปได้ไหมที่ว่าถ้าเน้นก้อนหินมากเกินไปจะมองข้ามก้อนกรวด เพราะก้อนกรวดมากับความเร่งด่วน ? “
“ ท่านทราบไหมว่าก้อนกรวดมาจากไหน? ก็มาจากก้อนหินที่แตกสลายไง ” ขงเบ้งตอบ “ คนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องประเภทก้อนหินจะมีก้อนกรวดน้อย  คนที่เน้นก้อนกรวดก็จะมีก้อนกรวดเยอะตลอด “  ขงเบ้งสอนต่อไปว่า  “ คนที่อิงเรื่องประเภทก้อนหินเป็นคนมีประสิทธิภาพ เพราะเขาจะเก่งในการวิเคราะห์สถานการณ์ เวลาและสิ่งแวดล้อม  สามารถจับประเด็นหลักของปัญหา สามารถจัดการกับเรื่องเร่งด่วนและควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกินกว่าเหตุ  กล้าฟันธงและใช้มาตรการป้องปราม  บุคคลจำพวกนี้จะมีวิสัยทัศน์  มีอุดมการณ์ เคารพ ระเบียบ สามารถควบคุมตัวเอง  ดำเนินชีวิตอย่างมีวินัย และสามารถทำงานชิ้นใหญ่ได้ ”

เล่าปี่ชื่นชอบทฤษฎี “ วัตถุในถัง “ ของขงเบ้งเป็นอย่างมากพร้อมกับสารภาพว่า “ มาวันนี้ข้าฯเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วว่าการต่อสู้ของข้าฯทำไมจึงยังลุ่มๆดอนๆ  เพราะแม้ว่าข้ามีขุนพลเก่งๆเช่นกวนอูและเตียวหุย  แต่พวกเขาจะก้าวหน้าได้อย่างไรตราบใดที่คนที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างพวกเขาจมปลักอยู่กับเรื่องจิ๊บจ๊อย  กับทำงานลักษณะ“ เก็บเม็ดงาแต่ทิ้งแตงโม “ (เจี่ยนเลอจือหมา ติวเลอซีกวา)  ขืนดำเนินตามวิธีนี้ต่อไป ความพยายามของข้าฯที่จะเป็นอภิมหาเศรษฐีนัมเบอร์วันในแผ่นดินก็คงเป็นได้แค่ความฝัน ! ”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :  http://www.bejame.com/article/2734

วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

คำศัพท์กระทรวงต่างๆ / ADMIN - SJ (TONAN ASIA AUTOTECH)

คำศัพท์กระทรวงต่างๆที่เราควรทราบ
คำศัพท์ (Vocabulary)
คำอ่าน (Reading)
ความหมาย (Meaning)
Ministries of Agriculture and Cooperatives      
มินิสทรีส ออฟ แอกริคัลเชอร์ แอนด์ โคโอเพอเรทีฝส์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Ministries ofCommerce
มินิสทรีส ออฟ คอมเมิร์ส
กระทรวงพาณิชย์
Ministries of  Culture
มินิสทรีส ออฟ คัลเชอร์
กระทรวงวัฒนธรรม
Ministries of Education
มินิสทรีส ออฟ อีดิวเคชั่น
กระทรวงศึกษาธิการ
Ministries of Defence
มินิสทรีส ออฟ ดีเฟ๊นซ์
กระทรวงกลาโหม
Ministries of Energy
มินิสทรีส ออฟ เอนเนอร์จี้
กระทรวงพลังงาน
Ministries of Finance
มินิสทรีส ออฟ ไฟแน๊นซ์
กระทรวงการคลัง
Ministries of Foreign Affairs 
มินิสทรีส ออฟ ฟอเรนจ์ แอฟแฟร์ส
กระทรวงการต่างประเทศ
Ministries of Industry
มินิสทรีส ออฟ อินดัสทรี
กระทรวงอุตสาหกรรม
Ministries of Justice  
มินิสทรีส ออฟ จัสทิส
กระทรวงยุติธรรม
Ministries of Labour
มินิสทรีส ออฟ เลเบอร์
กระทรวงแรงงาน
Ministries of Interior 
มินิสทรีส ออฟ อินทีเรีย
กระทรวงมหาดไทย
Ministries of Public Health  
มินิสทรีส ออฟ พับบลิค เฮ้ลธ์
กระทรวงสาธารณสุข
Ministries of Transport and Communications 
มินิสทรีส ออฟ ทรานสปอร์ท คอมมิวนิเคชั่น
กระทรวงคมนาคม
Ministries of National Resources and Environment 
มินิสทรีส ออฟ เนชั่นนัล รีซอร์สเซส แอนด์ เอนไวรอนเม้นท์
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
Ministries of Science and Technology 
มินิสทรีส ออฟ ไซเอ้นส์ แอนด์ เทคนอลอจี
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
Ministries of Social Development and Human Security
มินิสทรีส ออฟ โซเชียล เดเวลอพเม้นท์ แอนด์ ฮิวแมน เซเคียวริที
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
Ministries of Tourism and Sport   
มินิสทรีส ออฟ ทัวริสซึ่ม แอนด์ สปอร์ต
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
Ministries of Information and Communication Technology  
มินิสทรีส ออฟ อินฟอร์เมชั่น แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น เทคนอลอจี
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร
Office of the Prime Minister
ออฟฟิศ ออฟ เดอะ ไพรม์ มินิสเทอร์
สำนักนายกรัฐมนตรี
State Enterprises 
สเตท เอ็นเทอร์ไพร๊ส์
รัฐวิสาหกิจ


ขอบคุณแหล่งที่มา : http://www.pasa24.com/view/page.aspx?p=everyday-used-English

วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558

การนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ที่ถูกต้อง (จะได้ไม่เสียสุขภาพนะ) / Admin SD (Tonan Asia Autotech)

การนั่งที่ไม่ถูกต้อง


   วิธีการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ถูกต้อง


1.หน้าตรง หรือก้มลงมองจอเล็กน้อย ไม่เกิน 20องศา ตาห่างจากคอมประมาณ 45-60 ซม.
2.ไหล่ปล่อยวางสบาย ไม่ได้ยกขึ้น
3.ที่หลังแนบกับพนักพิงหลังตรง ก้นนั่งให้ลึก
4. ขาดท่อนบนกับท่อนล่างประมาณ 90 องศา
5. แขนท่อนบนกับข้อศอกประมาณ 90 องศา
6. ขาถึงพื้นแนบสนิท ไม่เขย่ง
7. อย่างน้อย 1 ชม.ต้องลุกขึ้นมายืดเส้นยึดสายบ้าง และพักสายตาด้วย

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :  http://www.kwamru.com/34

เกร็ดความรู้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน / ADMIN - SJ (TONAN ASIA AUTOTECH)


เกร็ดความรู้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน
เวลาที่พูดทักทายกันโดยปกติเราเคยได้ยินหรือใช้เพียงแค่ How are you? ใช่ไหม 
ประโยคข้างล่างนี้ใช้แทนกันได้ จำๆเอาไว้นะ 
เวลาได้ยินประโยคพวกนี้จะได้เข้าใจว่าเขาถามเราว่า How’re you?

How’s it been? ที่ผ่านมา เป็นยังไงบ้าง
How have you been?
How have you been up to?
How’s it going?
How’s everything?

What’s new? (informal) ไงวะ
What’s up? (informal)

เคยบ้างไหมที่บางทีเราเดินเล่นอยู่ดีๆ ก็เจอเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันนานมากๆๆๆ อยากรู้ไหมว่าสถานการณ์แบบนี้เขาทักทายกันอย่างไร มาดูกันเลย......... 

I haven’t seen you in year! ไม่เจอกันนานเลยนะ
Long time no see! (informal)
I haven’t seen you in an age!

หลังจากที่ทำการทักทาย และมีการถามว่าสบายดีไหม 
เราก็ต้องตอบออกไปทำนองว่า ดี งั้นๆ หรือแย่ ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของเรา ไม่ใช่ตอบ I’m fine. อย่างเดียว มาดูกันนะครับว่าที่อเมริกาเขาตอบกันอย่างไร 
ตอบในแง่สุขภาพหรือไม่ก็ สบายดี แข็งแรง 

I’m fine. สบายดี
Fine.
Okay.
All right.
Great.
Keeping cool.
I’m cool. (slang) สบายดีว่ะ

ตอบในแง่บวก ประมาณว่า ดี ไม่มีปัญหา 

Keeping out of trouble. ไม่มีปัญหา
Been keeping out of trouble.
Keeping busy. ดี (แบบทำโน่นทำนี่ไปเรื่อยๆ)
Keeping myself busy.
Been keeping myself busy.
ตอบในกลางๆ ประมาณว่า งั้นๆ 

Same as always. เหมือนเดิม
Same as usual.
Getting by. ก็อยู่ได้นะ
Been getting by.
So-so. (informal) งั้นๆว่ะ

ตอบในแง่ลบ ประมาณว่า แย่ ไม่ดี
Not good. ไม่ดีเลย
Not so good.
Not well.
Not very well.
Not so well.
Not great.
Not so great.
Crummy. (slang) แย่ว่ะ
Kind of crummy. (slang)

ขอบคุณแหล่งที่มาhttp://www.pasa24.com/view/page.aspx?p=everyday-used-English

วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558

โรคแพ้อากาศ (อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย) / Admin SD (Tonan Asia Autotech)

ในช่วงที่อากาศเปลี่ยแปลงบ่อย โรคที่ก่อปัญหาให้คนจำนวนมากคงหนีไม่พ้นโรค "แพ้อากาศ" หรือ เยี่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้เป็นโรคที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ของประชากรโลกเลยก็ว่าได้ ผู้ที่เป็นจะมีอาการคันจมูก  คันตา  คัดจมูก  จาม  น้ำมูกไหล ถ้าเป็นมากๆ จะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และบางครั้งทำให้เจ็บคอได้บ่อย นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีอาการไซนัสอักเสบตามมา

เป็นหวัดหรือแพ้อากาศกันแน่?

เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นนี้อาจคล้ายอาการหวัดซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อและมักเกิดในช่วงอากาศเปลี่ยนเหมือกัน ทำให้บางคนแยกไม่ออกว่า อาการที่เป็นอยู่นั้นเป็นหวัด หรือ เป็นโรคภูมิแพ้กันแน่ อาการหวัดจากการติดเชื้อนั้นอาจมีไข้ เพลีย  ปวดเมื่อยเนื้อตัว  เจ็บคอร่วมด้วย  น้ำมูกอาจเป็นสีเหลืองหรือเขียว ถ้าเป็นอาการที่กิดจากภูมิแพ้จะไม่มีไข้   แต่จะมีอาการคันจมูก  คันตา  และจมูกใสๆ อย่างไรก็ตาม  บางครั้งก็อาจแยกกันยาก โดยเฉพาะผู้ที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว  กรณีนี้ต้องใช้การตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ด้วย

โรคจมูกอักเสบจากภฺมิแพ้  หรือ  "แพ้อากาศ" ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะเกิดผลแทรกซ้อนตามมาได้หลายอย่าง เช่น   นอนหลับไม่สนิท นอนกรน   ต้องอ้าปากหายใจ  รู้สึกว่านอนไม่เต็มอิ่ม  เวียนศรีษะ  มึนงง ไม่มีสมาธิ ซึ่งอาการเหล่านี้รบกวนคุณภาพชีวิตและการทำงานมาก  ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดไซนัสอักเสบได้ด้วย



แล้วไซนัสอักเสบนั้นเป็นอย่างไร?

ไซนัสอักเสบ คือ การอักเสบติดเชื้อของโพรงอากาศในกระโหลกศรีษะ ซึ่งมีอยู่หลายแห่ง ที่พบได้บ่อย คือ บริเวณแก้มสองข้างและที่หน้าผาก เป็นได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ผู้ที่มีไซนัสอักเสบอาจมีอาการเริ่มต้นแบบเป็นไข้หวัดลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ไอเรื้อรัง  น้ำมูกเหลืองเขียว  ถ้ามีอาการเหล่านี้รวมกันให้นึกถึงว่าอาจเป็นไซนัสอักเสบ  ควรได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ  เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจรุนแรงถึงชีวิตได้

ไซนัสอักเสบ สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ และรักษาภาวะที่เป็นปัจจัยเอื้ออำนวยที่ทำให้รูเปิดของโพรงไซนัสอุดตันที่พบได้บ่อยก็คือ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้นั่นเอง

การรักษาด้วยยา

ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกนิยมนำมาใช้ในการรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการลดการอักเสบและบวบของเยื่อบุจมูก จึงช่วยให้โรคภูมิแพ้และไซนัสอักเสบดีขึ้น  คือ  หายใจโล่งขึ้น อาการคัน จาม และคัดจมูกก็จะลดลง เมื่อรูเปิดของไซนัสไม่อุดตันก็จะช่วยบรรเทาอาการไซนัสอักเสบ  และถ้าใช้ยาพ่นอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ก็จะช่วยลดโอกาศที่จะเป็นไซนัสอักเสบซ้ำด้วย

วิธีการพ่นยา ที่ถูกต้องมีความสำคัญมาก ก่อนอื่นควรสั่งน้ำมูกออกให้หมด เขย่าขวดยาแล้วสอดปลายที่พ่นยาเข้าไปในจมูกตรงๆ โดยไม่สอด ลึกเกินไป  จากนั้นจึงกดพ่นยาตามจำนวนที่แพทย์สั่ง การใช้ยาพ่นเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ตามคำสั่งของแพย์อย่างเคร่งครัดเสมอ

 ขอขอบคุณแหล่งที่มา : http://www.phyathai.com/medicalarticledetail/3/40/380/th

วันครูแห่งชาติ 2558 / ADMIN - SJ (TONAN ASIA AUTOTECH)

วันครูแห่งชาติ 
วันศุกร์ ที่ 16 มกราคม พุทธศักราช 2558
วันครูแห่งชาติ

วันครู
พระธรรมเทศนาโดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ
         วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี เป็นวันครู เป็นวันที่ผองศิษย์ทั้งหลายได้ร่วมใจพร้อมใจกันมานอบน้อมเคารพคุณครู ตั้งแต่โบราณกาล เราถือกันว่าคุณครู เป็นผู้ที่มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ต่อศิษย์ทั้งหลาย ถัดมาจากคุณพ่อคุณแม่ทีเดียว ทำไมคุณครูจึงมีพระคุณอันยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ก็ต้องมาดูที่หน้าที่ของครู ท่านสรูปไว้สั้นๆ ใน 2 คำคือ หน้าที่ในการแนะแล้วก็นำ แนะก็คือว่าการสอนให้ความรู้แก่ศิษย์นั่นเอง ส่วนการนำก็คือ การทำให้ดู คือประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างแก่ศิษย์ คุณค่าของความเป็นครูประมวลลงในคำ 2 คำนี้ ต้องสอนด้วย แล้วก็ทำตนให้เป็นแบบอย่างด้วย อย่างนี้ละก็ถือเป็นครูที่งามพร้อม สมบูรณ์พร้อม เป็นปูชนียบุคคล ที่ศิษย์ควรจะเคารพบูชา แต่ปัจจุบันเราจะพบว่าเรามีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเยาวชนอยู่มากพอสมควรทีเดียว เด็กรุ่นใหม่ในแง่ความรู้สติปัญญาก็อาจจะมีพอสมควร แต่ที่ห่วงกันมากๆก็คือว่าเรื่องความประพฤติ ไม่ว่าจะเป็นการไปหมกมุ่นอยู่กับอบายมุขบ้าง เรื่องเกมส์คอมพิวเตอร์บ้าง การใช้ความรุนแรงบ้าง หรือเรื่องทางเพศบ้าง ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เราคงต้องย้อนกลับมาดูถึงการทำหน้าที่ของครูกันอีกครั้งแล้วละ


         ว่าปัจจุบันเราเน้นหนักไปในเรื่องของการแนะ คือการสอนให้ความรู้กับศิษย์ มุ่งหวังจะให้ศิษย์ของเราเป็นคนเก่ง ไปสู้โลกกับเขาได้ ให้ทันเทคโนโลยีของโลกมากจนกระทั่งลืมเรื่องคุณธรรม คือการสอนให้ศิษย์เป็นคนดี มันน้อยไปสักนิดหรือเปล่า ปัญหาจึงเกิดมาเช่นนี้ แต่ถ้าเกิดจะแก้ปัญหาให้ได้ ก็คงหนีไม่พ้นว่าภาระหนักอยู่กับคุณครูทั้งหลาย ซึ่งแน่นอนว่าหากจะนำสอนให้ศิษย์เป็นคนดีได้ หนีไม่พ้นว่าคุณครูทั้งหลายจะต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างซะก่อน คงจะต้องหาวิธีการให้คุณครูมาศึกษาธรรมะ แล้วนำสิ่งเหล่านี้ไปถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ด้วย
            ท่านกล่าวว่ากิเลสในตัวคนมัน 3 ตัวเหมือนกัน โลภ โกรธ หลง ถ้าหากเราสังเกตุและเข้าใจตัวเองเมื่อไหร่ เราก็จะเข้าใจคนอื่น ถ้าคูณครูทั้งหลายในฐานะที่ผ่านโลกมามาก ได้สังเกตุปฏิบัติธรรม จนกระทั่งเข้าใจธรรมชาติของใจตัวเอง รู้จุดอ่อนจุดแข็งตัวเองดี เราก็จะเข้าใจลูกศิษย์ได้ดีเช่นเดียวกัน แล้วเราจะสามารถอบรมสั่งสอนให้เขาเป็นคนดีอย่างที่ควรเป็นได้
วันครูแห่งชาติ 16 มกราคม
         ปัจจุบันกำลังมีการปฏิรูปการศึกษา คำที่ฮิตคำหนึ่งคือว่า ชายเซ็นเตอร์ แปลเป็นไทยว่าการเรียนการสอน โดยที่ยึดเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง มีบางท่านออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยเหมือนกันบอกว่า จะไปถือตามใจเด็กได้ยังไง ตามใจเด็กเดี๋ยวเด็กเราก็เสียคนหมด มันก็ต้องสอนให้เด็กมาตามครูสิ ตรงนี้อยู่ที่มุมมองการตีความคำว่า เด็กเป็นศูนย์กลาง ถ้าจะถือเด็กเป็นศูนย์กลางเป็นการตามใจเด็กอันนี้ไม่ถูกแน่ แต่ความหมายจริงๆอาตมาเข้าใจว่า คำว่าชายเซ็นเตอร์ หรือการเรียนการสอน โดยมีเด็กเป็นศูนย์กลางหมายถึงว่า คุณครูจะต้องสนใจสังเกตุเด็ก จะสอนอะไรไปจะแนะจะนำอะไรก็ตาม ต้องสังเกตุเด็กว่าปฏิกิริยาตอบรับเป็นอย่างไร ถ้าเป็นการสอนให้ความรู้ เด็กเข้าใจหรือยัง หาวิธีการปรับจนกระทั่งว่าเด็กสามารถศึกษาแล้วเข้าใจได้อย่างดีถ่องแท้ เอาความรู้นั้นไปใช้ได้จริงๆ ไม่ใช่มาถึงเราก็สอนไปอย่างที่เราอยากสอน เด็กจะรู้เรื่องหรือไม่ปล่อยเป็นเรื่องของเขา ถ้าอย่างนี้ประสิทธิภาพการเรียนมันก็ไม่เต็มที่ ต้องสังเกตุผู้เรียน ทำยังไงก็ได้หาวิธีการทุกรูปแบบให้เขาเข้าใจ แล้วก็เอาความรู้นั้นไปใช้ได้
        ถ้าในแง่ของเรื่องความประพฤติก็เช่นเดียวกัน ต้องสังเกตุลูกศิษย์ของเราเองไม่ปล่อยเลยตามเลย หาวิธีการทุกรูปแบบ ทำยังไงก็ตามให้ศิษย์ของเราเอง เป็นคนดีอย่างที่พึงเป็นให้ได้ ถ้าหากว่าบางครั้ง เห็นเหลือบ่ากว่าแรงนัก เราก็สามารถประสานพลังได้ อ้าว พาลูกศิษย์ไปวัดบ้าง ไปกราบหลวงปู่ หลวงตาที่มีความรู้ความสามารถ ช่วยอบรมสั่งสอนให้ เป็นครั้งคราวอาจจะไปเช้าเย็นกลับ บางทีอาจจะนิมนต์ท่านมาสอนที่โรงเรียนก็ตาม ไปกราบท่านถึงวัดก็ตาม หรือว่าอาจจะมีการจัดปฏิบัติธรรม 2 วัน 3 วัน ก็ตาม หากิจกรรมธรรมะต่างๆให้เด็กมาร่วม เพื่อกระตุ้นความตื่นตัวในการศึกษาธรรมะ ในการฝึกอบรมปฏิบัติตัวเองให้เป็นคนดี รักบุญกลัวบาป เข้าใจเรื่องกฏแห่งกรรมก็ตาม หรือหาสื่อดีๆให้ศิษย์ของเราเองได้ดูได้ชม เพื่อสร้างเสริมเขาให้เป็นคนที่ทั้งเก่งด้วย แล้วก็ดีด้วย คุณครูคนไหนสามารถทำได้อย่างนี้ละก็ นั่นคือปูชนียบุคคลของศิษย์อย่างแท้จริง ถ้าคุณครูทั้งประเทศช่วยกันคนละไม้คนละมือ เยาวชนทั้ง 13 ล้านคนระบบการศึกษา จะเป็นเด็กทั้งเก่งแล้วด็ดี แล้วเราจะตอบได้เลยว่า อนาคตของประเทศไทยของเรา ก็จะสว่างไสวแล้วก็เป็นปิ่นนานาประเทศ เป็นแบบอย่างแก่สังคมโลกได้อย่างแท้จริง โดยมีหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา เป็นประทีปส่องทางชีวิต แล้วก็อาศัยคุณครูทั้งหลาย เป็นผู้ประสานเอาพระธรรมคำสอนนี้ ไปสู่ใจของเยาวชนทั้งประเทศ เจริญพร 

 16 มกราคม วันครูแห่งชาติ

วันครู 16 มกราคมของทุกปี 

ประวัติความเป็นมาของวันครู

     มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความ เห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษา ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู
     ด้วยเหตุนี้ในทุก ๆ ปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญ คุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของ คุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบ ข้อสงสัยสถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา ปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า
     “ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือ ว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมี บุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บันดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”
     จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความคิดเห็นของครูที่ แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครู ในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติ เห็น ควรให้มีวันครูเพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครู กับประชาชน
     ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู”โดย เอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็นวันครูและให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดัง กล่าวได้ 
วันครูทางพระพุทธศาสนา คือวันอะไร

     ถ้าเราถือว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นเป็นบรมครูของเรา วันที่เนื่องด้วยพระองค์ก็คือวันวิสาขะบูชา ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน จะถือวันนี้ก็คงจะได้ เราไม่ได้มีการกำหนดตายตัวหรอก แต่ถือวันนี้ก็ได้เหมือนกัน หรือว่าบางท่านอาจจะถือว่าพระธรรมเป็นใหญ่ ก็อาจจะถือวันที่พระองค์แสดงธรรมครั้งแรก ก็คือวันอาสาฬหะบูชาก็ได้ ที่พระองค์แสดงปฐมเทศนาธัมมจักรกัปปวัฒนสูตรให้กับปัญจวัคคี ก็ได้เหมือนกัน
บทสวดเคารพครู

          (สวดนำ) ปาเจราจริยาโหนฺติ (รับพร้อมกัน) คุณุตฺตรานุสาสกา
          ปญฺญาวุฑฺฒิกเร เต เต ทินฺโนวาเท นมามิหํ

สวดทำนองสรภัญญะ

          (สวดนำ) อนึ่งข้าคำนับน้อม (รับพร้อมกัน) ต่อพระครูผู้การุณย์
          โอบเอื้อและเจือจุน อนุศาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
          ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
          ชี้แจงและแบ่งปัน ขยายอรรถให้ชัดเจน
          จิตมากด้วยเมตตา และกรุณา บ เอียงเอน
          เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ ให้ฉลาดและแหลมคม
          ขจัดเขลาบรรเทาโม หะจิตมืดที่งุนงม
          กังขา ณ อารมณ์ ก็สว่างกระจ่างใจ
          คุณส่วนนี้ควรนับ ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร
          ควรนึกและตรึกใน จิตน้อมนิยมชม
          (กราบ)
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์มีวิธีการสั่งสอนอย่างไร
       โดยรวมก็คือว่า แนะให้รู้แล้วก็ทำให้ดูอย่างนั้นแหละ ชี้แจงสอนแล้วก็วิถีชีวิตพระองค์เองก็เป็นมาตรฐานแห่งการประพฤติปฏิบัติของเหล่าสาวกทั้งปวง นั่นเป็นอย่างนั้น ก็วิธีการสอนของพระองค์ก็มีหลายรูปแบบ พระองค์จะต้องถือว่าเป็นผู้ที่มีศิลปะการสอนชั้นเลิศ จะสอนอะไรไม่ใช่เจอแล้วก็สอนเหมือนกันทุกคนไม่ใช่ แต่ว่าพระองค์ใช้การระลึกชาติไปดูก่อนว่า บุคคลผู้นี้ภพในอดีตเคยสั่งสมอะไรมาบ้าง พอพระองค์สอนผู้ฟังจะมีความรู้สึกว่า แบบ ถ้าใช้ศัพท์ปัจจุบันคือโดนจริงๆเลย โดน ฟังแล้วนี่เข้าใจแล้วก็ซาบซึ้ง บอกเหมือนหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง จุดประทีปในที่มืด เปรียบเทียบอย่างนั้นเลย แล้วพระองค์จะมีศิลปะนะคือว่า ไม่ใช่ว่าเขาทำอะไรไม่ถูกอยู่ๆไปถึงบอก นี่คุณผิดนะอย่างงั้นๆ ไม่ใช่ แต่พระองค์ใช้วิธีการดัด ดัดให้เขาได้คิดขึ้นมา แต่ไม่ใช่ใช้วิธีการสวน


     ยกตัวอย่าง มีอยู่คราวหนึ่งพระองค์ไปถึงเห็น สิงฆารกะมานพกำลังยืนไหว้ ไหว้ไปข้างหน้า ไหว้ไปข้างหลัง ไหว้ไปข้างซ้าย ไหว้ไปข้างขวา แล้วก็ไหว้ไปบนฟ้า แล้วก้มไหว้ดินอีก ยืนไหว้อยู่อย่างนี้ ไหว้ไปไหว้มาสลับไปสลับมา เพราะก่อนพ่อแม่จะตายสั่งไว้ว่า ให้ไหว้ทิศทั้ง 6 ซ้ายขวาหน้าหลังบนล่าง ไหว้ทิศทั้ง 6 พระองค์ก็ยืนดู เพราะพระองค์ทราบแล้วที่มาที่ไป แล้วก็บอกสิงฆารกะมานพว่า เขาถามพระพุทธเจ้าว่าในพระพุทธศาสนามีไหว้ทิศไหม พุทธเจ้าบอกมี ทำให้เขาดีใจรู้สึกว่าเหมือนกัน รู้สึกว่าพวกเดียวกัน แต่พระองค์บอกว่าแต่การไหว้ทิศไม่ได้ไหว้อย่างนี้หรอก พอใจเขาเริ่มเปิดเพราะอยากรู้แล้ว แต่บอกว่าไม่ได้ไหว้อย่างนี้เขาก็อยากรู้ถามไหว้ยังไง พระองค์บอกนี่ไหว้อย่างนี้ ทิศเบื้องหน้าคือพ่อแม่ การไหว้คือ ให้ปฏิบัติตัวเราเองกับพ่อแม่ให้ถูกต้องตามหน้าที่ของลูก แล้วพระองค์ก็สอนว่ามีอะไรบ้าง 1,2,3,4,5 ทิศเบื้องหลังคือบุตรภรรยา เพราะเป็นหน้าที่ของเราเองที่มีต่อบุตรภรรยา ฝ่ายหญิงก็ต่อสามีเป็นต้น ทิศเบื้องขวาคือครูบาอาจารย์ ทิศเบื้องซ้ายคือมิตรสหาย ทิศเบื้องล่างก็คือลูกน้องบริวาร ทิศเบื้องบนคือสมณะพราหมณ์ ผู้ทรงศีล หน้าที่ของเราเองที่ปฏิบัติต่อทิศทั้ง 6 นี้ทำอย่างถูกต้องนั่นคือการไหว้ทิศ ทิศ 6 สิงฆารกะมานพพอฟังแล้วใจ สว่างไสว ไหว้ทิศอย่างนี้สุดยอด เยี่ยม ก็ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา แล้วก็ตั้งใจศึกษาธรรมะจากพระพุทธเจ้า นี่เป็นอย่างนี้เห็นไหม นี่คือศิลปะในการสอนของพระองค์


      พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปเจอคนเคารพพระพรหม พระองค์ก็ไม่ได้บอกว่าไปเคารพทำไม ไม่ถูกอย่างพระองค์บอกว่า เธออยากจะไหว้พรหมตัวจริงไหมล่ะ ให้ถูกหลัก อยากทำยังไงหรือพระยะค่ะ ให้ทำอย่างนี้นะ ให้ประพฤติพรหมวิหารธรรม ธรรมที่เป็นเครื่องอยู่ของพรหม คือเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี่แหละทำ 4 ข้อนี้ตัวเองจะได้เป็นพรหมด้วยตั้งแต่เป็นพรหมเดินดินบนโลกเลย ละโลกไปแล้วมีสิทธิ์เป็นพรหมอยู่บนสวรรค์ชั้นอรูปภพ อรูปพรหม เป็นต้น



      พระองค์ยังมีศิลปะในการขยายแล้วก็ให้นัยยะที่ถูกต้อง ซึ่งมีความลุ่มลึกลึกซึ้งอย่างเรื่องทิศ 6 พระเจ้าอโศกมหาราชถึงขนาดทำจาลึกพระเจ้าอโศกแกะสลักในหิน แล้วก็ส่งไปปิดประกาศตั้งไว้ในดินแดนพระองค์ตลอดทั้งอินเดีย บอกว่าให้ผสกนิกรตั้งใจศึกษาทิศทั้ง 6 ที่พุทธเจ้าสอนไว้ให้ดี เพราะพระองค์เห็นว่าแค่ทิศ 6 หมวดธรรมเดียวก็ได้อะไรตั้งหลายอย่าง ถ้าเกิดประชากรของพระองค์ตั้งใจปฏิบัติตามทิศ 6 บ้านเมืองสงบร่มเย็นเจริญรุ่งเรืองแน่นอน ถึงขนาดจาลึกอโศกสั่งให้ศึกษาเลย

       มีอยู่คราวหนึ่งพระองค์เสด็จไปในชนบท แล้วก็มีกสิภาระทวาชพราหมณ์ กำลังไถนาอยู่ เป็นชาวนาแต่ชาวนาแบบรวย ทำนากันขนานใหญ่ พอเจอพุทธเจ้าเขาก็รู้ว่าเป็นนักบวช บอกว่า พุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ไถ และหว่านแล้วย่อมบริโภค พระองค์ล่ะ ก็ควรจะไถและหว่านแล้วบริโภคเช่นกัน ถ้าพูดภาษาปัจจุบันคือ อย่ามาขอนะฉันต้องทำงานถึงจะมีกินพูดง่ายๆ ไถและหว่าน แล้วบริโภค ถ้าพระองค์อยากจะบริโภคก็ต้องไถและหว่านต้องทำงานเหมือนกัน เรียกว่าเราเคยเจอคนประเภทนี้ ยุคปัจจุบัน มีชนิดที่ว่า พระไม่ทำงานเบียดเบียนสังคมหรือเปล่า ต้องทำงานสิถึงจะมีกิน อย่างนี้ พุทธเจ้าพระองค์ตอบว่าดูก่อนพราหมณ์ ตถาคต ไถและหว่านแล้วจึงบริโภค พราหมณ์ชักงงแล้วมองพุทธเจ้า ข้าพระองค์ไม่เห็นพระองค์มีไถอยู่ที่ไหนเลยเชือกก็ไม่เห็น ปฏักตระแบกอะไรต่างๆที่ไถ คันไถอะไรก็ไม่เห็นเลย แล้วพระองค์บอกว่าไถและหว่านยังไงไม่เข้าใจ เห็นเดินถือบาตรมาเท่านั้นเอง พระองค์ว่า


       ศรัทธาเป็นพืช เหมือนกับเป็นเมล็ดพันธุ์ที่หว่านไป ความเพียรนี่จะเป็นฝนโปรยปรายให้ศรัทธานี้งอกงาม ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ หิริคือความละอายต่อบาปนั้นจะเป็นงอนไถ ใจเป็นเชือก สติของเราเป็นผาน ผานที่ตักดินขึ้นมานี่นะ และปฏักเรามีกายคุ้มครองแล้ว มีวาจาคุ้มครองแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้วในการบริโภคอาหาร เราทำการดายหญ้า หญ้าในที่นี้ก็คือวาจาสัปปรับที่กลับไปกลับมาไม่จริง ด้วยคำสัตย์ โสรัจจะ ของเราเป็นเครื่องให้แล้วเสร็จงาน ความเพียรของเราเป็นเครื่องนำธุระไปให้สมหวัง นำไปถึงความเกษมจากกิเลสทั้งปวงไม่ถอยหลัง นำไปยังที่ซึ่งบุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก เราทำนาอย่างนี้ นาที่เราทำย่อมมีผลเป็นอมตะ บุคคลทำนาอย่างนี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้


      กสิภาระทวาชพราหมณ์ กราบทูลว่า ท่านพระโคดมผู้เป็นชาวนาขอพระองค์จงบริโภคอมตะผลที่ท่านพระโคดมไถนั้นเถิด ยังแค่เชื่อท่านทำนาอย่างนั้นท่านก็บริโภคอย่างนั้นก็อมตะผลนี่นะพูดอย่างนั้น พุทธเจ้าบอกว่า เราไม่พึงบริโภคโภชนะซึ่งได้เพราะความขับกล่อมไม่ใช่มาพูดเพราะๆอย่างที่ นักบวชศาสนาอื่นมาแสดงดนตรีอะไรต่อมิอะไรต่างๆไม่ใช่ ดูก่อนพราหมณ์ นี่เป็นธรรมบุคคลที่เห็นอรรถและธรรมอยู่ ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมรังเกียจโภชนะที่ได้เพราะการขับกล่อม ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่ ความเป็นไป (ก็คือการประกอบอาชีพนี้ก็ยังมีอยู่) ท่านจงบำรุงซึ่งพระขีณาสพ(ก็คือพระอรหันต์ทั้งสิ้น) ผู้แสวงหาคุณใหญ่ มีความคะนองระงับแล้วด้วยข้าวน้ำอันอื่น เพราะว่าการบำรุงนั้นเป็นนาบุญของผู้มุ่งบุญ คือปูมาแต่คนนั้นอาจจะมีทิฏฐิอยู่


        กสิภาระทวาชพราหมณ์ กราบทูลพุทธเจ้าบอกว่า ข้าแต่พระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักมองเห็นได้ ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฝากคุณครูทั้งหลาย จะเป็นยอดครูละก็ ต้องศึกษาวิธีการสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราจะได้ข้อคิดทั้งวิธีการถ่ายทอด ทั้งเนื้อหาสาระที่พระองค์ให้ แล้วยิ่งศึกษาจะยิ่งมีความซาบซึ้งในพระคุณของพระองค์


การไหว้ครูคือการแสดงความเคารพระลึกถึงพระคุณของท่าน
การระลึกนึกถึงพระคุณของคุณครู ในสมัยโบราณมีลักษณะอย่างไร

      สาระหลักของการไหว้ครูคือการแสดงความเคารพระลึกถึงพระคุณของท่าน มอบกายถวายตัวให้กับท่าน ให้ท่านอบรมสั่งสอนมันเป็นอย่างนั้น แต่การแสดงออกก็จะมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละที่กันไป อย่างเช่นในบางที่ก็ใช้วิธีการประกาศปฏิญาณตน บางที่ก็ใช้วิธีการว่าเอาข้าวตอกดอกมะเขือแล้วก็หญ้าแพรกต่างๆไปไหว้ครู เป็นต้น บ้างก็ใช้วิธีการแสดงออกโดยการประทักษิณ อย่างในพระพุทธศาสนาเรา การจะแสดงความเคารพ เราจะใช้การประทักษิณ เราคงได้ยินคำนี้ ประทักษิณอย่างเช่นว่าจะแสดงความเคารพพระพุทธรูป พระประธานในโบสถ์ ก็ประทักษิณรอบโบสถ์ เวียนเทียนนั่นเอง ก็คือเดินแล้วก็ด้วยอาการสำรวมเช่นพนมมือหรือสวดมนต์ไปเป็นต้น แล้วให้ขวามือของเรา อยู่ใกล้กับสิ่งที่เราแสดงความเคารพ เช่นจะเดินผ่านโบสถ์ก็ให้ขวามือเราเองอยู่ใกล้โบสถ์ แล้วก็เดินวนรอบ เรียกว่าเวียนประทักษิณ เจริญพร จะเป็นสถูปเจดีย์ต่างๆประทักษิณคือ เอาขวามือเราอยู่ใกล้สิ่งนั้นแล้วก็เดินรอบ 3 รอบโดยทั่วไป ก็เป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพได้เหมือนกัน สำคัญที่ใจ แต่การแสดงออกทางกาย วาจา ก็มีผลเพราะว่า มันจะสื่อเนื่องไปถึงใจด้วย

       สิ่งที่แสดงออกสูงที่สุดคือปฏิบัติบูชา การแสดงความเคารพบูชาครูบาอาจารย์ ดีที่สุดคือปฏิบัติบูชา คือทำตามคำสอนของท่าน หน้าที่ของครูมี 2 อย่าง คือแนะให้รู้กับทำให้ดู แนะนำนั่นเองแหละ แนะคือสอนให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร นำก็คือทำให้ดูเป็นตัวอย่าง การประพฤติปฏิบัติของครูทำให้ดูเป็นตัวอย่าง 2 อย่างประกอบคือหน้าที่หลักของครู หน้าที่ของศิษย์เองก็จะต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามเรียกว่าปฏิบัติบูชา ครูบาอาจารย์สอนอะไรไม่ใช่เข้าหูซ้ายออกหูขวา แต่ใส่ใจรับฟังศึกษาให้เข้าใจแล้วก็นำมาปฏิบัติเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นตัว เป็นตนของเราเอง จนซึมเข้าไปในใจของเราเป็นวิถีชีวิตของเราเอง อันนี้คือการปฏิบัติบูชาที่ดีที่สุด ถือเป็นการบูชาอันสูงสุด
     ในทางพระพุทธศาสนาของเรานี่ ครูผู้ยิ่งใหญ่ของเราคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระบรมครูนั่น เอง เรารู้จักพระพุทธเจ้าในฐานะ ผู้เป็นพระบรมครู ศาสดาเอกของโลก   เราจึงควรศึกษาของดีๆ ที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างกว้างขวาง
พระบรมครู
     พระพุทธเจ้าในสมัยเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี จากอาจารย์ที่มีชื่อเสียง คือ อาจารย์วิศวามิตร วิชาที่ทรงศึกษา คือ ศิลปศาสตร์ 18 ประการ อันเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้จะเป็นกษัตริย์ จะต้องศึกษาศิลปศาสตร์ 18 ประการ คือ
1. ยุทธศาสตร์  วิชานักรบ
2. รัฐศาสตร์  วิชาการปกครอง
3. นิติศาสตร์   วิชากฎหมายและจารีตประเพณีต่างๆ
4. พาณิชยศาสตร์  วิชาการค้า
5. อักษรศาสตร์  วิชาวรรณคดี
6. นิรุกติศาสตร์  วิชาภาษาทั้งของตน และของชนชาติ ที่เกี่ยวข้องกัน
7. คณิตศาสตร์  วิชาคำนวณ
8. โชติยศาสตร์  วิชาดูดวงดาว
9. ภูมิศาสตร์  วิชาดูพื้นที่ และรู้จักแผนที่ของประเทศต่างๆ
10.โหราศาสตร์  วิชาโหรรู้จักพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ
11.เวชศาสตร์  วิชาแพทย์
12.เหตุศาสตร์  วิชาว่าด้วยเหตุผล หรือตรรกวิทยา
13.สัตวศาสตร์  วิชาดูลักษณะสัตว์ และรู้เสียงสัตว์ว่าดี หรือร้าย
14.โยคศาสตร์  วิชาช่างกล
15.ศาสนศาสตร์  วิชาศาสนารู้ความเป็นมา และหลักศาสนาทุกศาสนา
16.มายาศาสตร์  วิชาอุบาย หรือตำหรับพิชัยสงคราม
17.คันธัพพศาสตร์ วิชาร้องรำหรือนาฎยศาสตร์ และวิชาดนตรีหรือดุริยางค์ศาสตร์
18.ฉันทศาสตร์   วิชาการประพันธ์

     พระพุทธเจ้าทรงศึกษาศิลปศาสตร์ 18 ประการนี้ จนมีความรู้แตกฉาน ยากที่หาใครเสมอเหมือนได้จึง กล่าวได้ว่า พระองค์ทรงมีความรู้ ในทางโลกเพียบพร้อม เป็นอย่างดีอยู่แล้ว เมื่อได้เสด็จออกบรรพชา พระองค์ทรงได้ศึกษาเพิ่มเติมจากอาฬารดาบส และอุททกดาบส ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา และทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตใจ จนได้ตรัสรู้ พระองค์จึงทรงพร้อมที่จะสอนบุคคลทุกชั้น ตั้งแต่คนธรรมดา จนถึงนักปราชญ์ และเทวดา  ทุกโอกาสและสถานที่ เราลองมาพิจารณาการสอนแบบพระพุทธเจ้ากัน


ทรงพร้อมที่จะสอน
ทรงสอนด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
ทรงสอนโดยมีจุดมุ่งหมาย
ทรงสอนโดยคำนึงถึงความพร้อมของผู้ฟัง
ทรงสอนโดยคำนึงถึงความแตกต่างฯ
ทรงสอนโดยใช้สื่อภาษาที่เข้าใจง่าย
ทรงสอนจากสิ่งที่รู้ไปหาสิ่งที่ไม่รู้
ทรงสอนจากยากไปหาง่าย
ทรงสอนโดยจัดคำสอนเป็นข้อๆ
ทรงสอนตามความเข้าใจของผู้อื่น
ทรงสอนโดยวิธีซักถาม
ทรงสอนให้ผู้ฟังลงมือปฎิบัติ
ทรงสอนโดยใช้อุปกรณ์การสอน
ทรงสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาฯ

      แหละนี่คือ หลักการสอนการปฏิบัติตนของพระบรมครูผู้ยิ่งใหญ่ของโลกนี่ ที่เราทุกคนควรนำหลักไปปฏิบัติ เพื่อให้สันติสุขบังเกิดขึ้นแก่โลกใบนี้




     ขอบคุณแหล่งข้อมูล

วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558

สารพันธุกรรม (เนื้อหาจากเค้าโครงสื่อดิจิทัลเรื่องสารพันธุกรรม) / Admin SD (Tonan Asia Autotech)

โดย ผ.ศ.แก้ว  อุดมศิริชาคร ม.อุบลราชธานี

กรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิก (deoxyribonucleic acid) หรือ DNA เป็นกรดนิวคลีอิกชนิดหนึ่งที่พบในเซลล์สิ่งมีชีวิต ดีเอ็นเอเป็นสารพันธุกรรม ทำหน้าที่เก็บข้อมูลทางพันธุกรรม ทำให้สิ่งมีชีวิตแต่ละตัวแตกต่างกัน

เมื่อตรวจดูนิวเคลียสของเซลล์ด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบโครโมโซม (chromosome) ซึ่งในเวลาส่วนใหญ่โครโมโซมจะอยู่ในสภาพคลายตัวออกเป็นโครมาทิน (chromatin) มีลักษณะเป็นสายยาวคล้ายเส้นด้าย เมื่อโครมาทินคลายตัวออกไปอีก จะเห็นคล้ายกับมีลูกปัดร้อยอยู่บนเส้นด้ายบางๆ ส่วนที่คล้ายลูกปัดนี้เรียกว่านิวคลีโอโซม (nucleosome) ประกอบด้วยดีเอ็นเอสายยาวพันล้อมรอบโปรตีนชื่อ ฮิสโทน (histone) และเมื่อแยกส่วนที่เป็นโปรตีนออกจากนิวคลีโอโซม ก็จะเหลือเฉพาะดีเอ็นเอ

โครงสร้างดีเอ็นเอประกอบด้วยพอลีนิวคลีโอไทด์ 2 สายเรียงคู่ขนานในทิศทางตรงข้ามกัน มีลักษณะเป็นเกลียวคู่ หรือ ดับเบิลเฮลิกซ์ (double helix) คล้ายบันไดเวียน


สายพอลีนิวคลีโอไทด์เกิดจากหน่วยย่อยของนิวคลีโอไทด์มาเรียงต่อกัน นิวคลีโอไทด์ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 

1.  ฟอสเฟต (PO4)
2.  น้ำตาล (sugar) ที่มีคาร์บอน 5 อะตอม ชนิดดีออกซีไรโบส (deoxyribose) 
3.  เบส (base) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ พิวรีน (purine) ได้แก่ อะดีนีน (adenine : A) กับกัวนีน (guanine : G) และไพริมิดีน (pyrimidine) ได้แก่ ไซโทซีน (cytosine : C) กับ ไทมีน (thymine : T)

โครงสร้างของนิวคลีโอไทด์

ในแต่ละนิวคลีโอไทด์ ฟอสเฟตจะจับกับน้ำตาลที่คาร์บอนตำแหน่งที่ 5 เรียกว่า 5 - prime (5´) และระหว่างนิวคลีโอไทด์ที่เรียงต่อกัน ฟอสเฟตของนิวคลีโอไทด์โมเลกุลหนึ่งจะจับกับน้ำตาลของ
นิวคลีโอไทด์โมเลกุลถัดไปที่คาร์บอนตำแหน่งที่ 3 เรียกว่า 3 - prime (3´) ดังนั้น เมื่อนิวคลีโอไทด์
ต่อกันเป็นสายยาว ปลายสายเปิดด้านหนึ่งจะเป็น 5´ และปลายสายเปิดอีกด้านหนึ่งจะเป็น 3´


 การเรียงต่อกันของนิวคลีไทด์ในโมเลกุลดีเอ็นเอ

ในธรรมชาติโมเลกุลดีเอ็นเอจะอยู่ในสภาพที่มีพอลินิวคลีโอไทด์ 2 สายคู่สมกันเรียงขนานในทิศทางตรงข้ามกัน ดังนั้น ถ้าสายหนึ่งมีทิศทางการต่อลำดับนิวคลีโอไทด์จาก 5´  3´ อีกสายหนึ่งจะมีทิศทางจาก 3´  5´ ทั้งนี้ โดยมีการยึดเกาะกันระหว่างเบสพิวรีนกับเบสไพริมิดีนที่เป็นคู่สมกันด้วย นั่นคือ A จับกับ T และ G จับกับ C เสมอ


 ดีเอ็นเอประกอบด้วยพอลินิวคลีโอไทด์ 2 สายคู่สม

ในการสร้างสิ่งมีชีวิตรุ่นใหม่ ข้อมูลทางพันธุกรรมที่เก็บไว้ในโมเลกุลดีเอ็นเอของรุ่นพ่อแม่จะต้องส่งต่อไปยังรุ่นลูก ซึ่งในระยะแรกของการแบ่งเซลล์ ดีเอ็นเอจะมีการจำลองตัวเอง เรียกกระบวนการนี้ว่า การจำลองดีเอ็นเอ (DNA replication) โดยสายดีเอ็นเอคลายตัวออกตามยาวคล้ายกับการรูดซิบ แต่ละสายจะทำหน้าที่เป็นแม่แบบในการสร้างดีเอ็นเอสายใหม่ขึ้น เกิดเป็นสายดีเอ็นเอ 2 สายที่เหมือนกัน แต่ทิศทางตรงข้ามกัน นั่นคือ ถ้าดีเอ็นเอสายแม่แบบมีทิศทาง 5´  3´ ดีเอ็นเอสายคู่สมมีทิศทาง 3´  5´ และถ้าดีเอ็นเอสายแม่แบบมีทิศทาง 3´  5´ ดีเอ็นเอสายคู่สมมีทิศทาง 5´  3´



การจำลองดีเอ็นเอ

เมื่อสิ้นสุดการแบ่งเซลล์แบบไมโอซิส (meiosis) เซลล์สืบพันธุ์ของฝ่ายพ่อ คืออสุจิ หรือสเปิร์ม (sperm) และเซลล์สืบพันธุ์ของฝ่ายแม่ คือไข่ หรือออวัม (ovum) จะมีข้อมูลทางพันธุกรรมแยกออกไปอยู่ในเซลล์สืบพันธุ์อย่างละครึ่งหนึ่ง และภายหลังการปฏิสนธิข้อมูลทางพันธุกรรมจะกลับมารวมกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามกฎของเมนเดล ดังนั้น ลักษณะทางพันธุกรรมในรุ่นลูกจึงเป็นผลรวมระหว่างฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่



การแบ่งเซลล์เพื่อสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้



การแบ่งเซลล์เพื่อสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย

กลไกการแสดงออกของยีนเริ่มจากโมเลกุลดีเอ็นเอมีการถอดรหัสพันธุกรรมโดยการสร้างเมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเอ (messenger RNA หรือ mRNA) เรียกกระบวนการนี้ว่า ทรานสคริปชัน (transcription) ลำดับเบสบน mRNA เป็นรหัสพันธุกรรมประกอบด้วยเบส 3 ตัว (triplet code) เรียกว่า โคดอน (codon) ซึ่งจะลำเลียงออกมาจากนิวเคลียสเข้าสู่ไซโตพลาสซึม จากนั้นจึงจะมีการแปลรหัสโคดอนโดยอาศัยทรานสเฟอร์อาร์เอ็นเอ (transfer RNA หรือ tRNA) และไรโบโซม (ribosome) เรียกกระบวนการนี้ว่า ทรานสเลชัน (translation) ผลจากการแปลรหัสทำให้ได้ลำดับกรดอะมิโนในสายของโปรตีน และโปรตีนที่เกิดขึ้นจะทำงานในร่างกายของสิ่งมีชิวิต ก่อให้เกิดลักษณะต่างๆ ปรากฏให้เห็น เรียกว่า ฟีโนไทป์ (phenotype)


การแสดงออกของยีนผ่านกระบวนการสังเคราะห์โปรตีน (โพลีเพปไทด์) ภายในเซลล์

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : http://secondsci.ipst.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=145:20110104&catid=19:2009-05-04-05-01-56&Itemid=34

วันเด็กแห่งชาติ 2558 / ADMIN - SJ (TONAN ASIA AUTOTECH)


วันเด็กแห่งชาติ ปี 2558
วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ.2558

คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2558  - โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - "ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต"
วันเด็ก 
วันเด็กปีนี้ 10 มกราคม

วันเด็กแห่งชาติ ประวัติความเป็นมาของวันเด็กแห่งชาติ

ประวัติความเป็นมาของวันเด็กแห่งชาติ

     วันเด็กแห่งชาติ มีต้นกำเนิดมาจากการที่องค์การสหประชาชาติทั่วโลกเกิดความตื่นตัว และเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะให้ความสำคัญแก่เด็ก ๆ โดยในปี พ.ศ. 2498 นายวี เอ็ม กุล ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิการเด็กระหว่างประเทศ ได้เป็นผู้เสนอต่อกรมประชาสงเคราะห์ ให้มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญ และความต้องการของเด็ก รวมถึงเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ
     ทั้งนี้ การขานรับกับการจัดงานวันเด็กแห่งชาติได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง ในปีเดียวกันนั้นเองทั่วโลกไม่น้อยกว่า 40 ประเทศ จัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติของตนขึ้น โดยได้มีการกำหนดว่าจะถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ สำหรับประเทศไทย ได้ตอบรับข้อเสนอของนายวี เอ็ม กุลกานี ซึ่งบอกผ่านมาทางกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยว่า ไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติ รัฐบาลจึงได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียน และนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
     งานวันเด็กแห่งชาติครั้งแรกของประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2498 จากนั้นเป็นต้นมา ราชการได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ โดยจัดต่อเนื่องกันมาจนถึงปี 2506 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้น ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่ ด้วยเหตุผลว่า เดือนตุลาคมสำหรับประเทศไทย เป็นเดือนที่ยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็ก ๆ ไม่สะดวกในการเดินทางมาร่วมงาน นอกจากนี้วันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้
     ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2507 ว่า ควรจะเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ที่มีความเหมาะสมและสะดวกมากกว่า ตามที่คณะกรรมการจัดงานวัดเด็กแห่งชาติเสนอมา ส่งผลให้ในปี 2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว งานวันเด็กแห่งชาติจึงเริ่มจัดขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 2508 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

วันเด็กแห่งชาติ
 เด็กที่ดีในวันนี้ คือผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้า

วันเด็กแห่งชาติ วัตถุประสงค์ของวันเด็กแห่งชาติ


วัตถุประสงค์ของวันเด็กแห่งชาติ


     1. เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ
     2. เพื่อให้เด็กและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
     3. เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนและอยู่ในระเบียบวินัยอันดี และเพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก
วันเด็กแห่งชาติ วัตถุประสงค์ของวันเด็กแห่งชาติ

คำขวัญวันเด็ก


คำขวัญวันเด็กแห่งชาติ
คำขวัญวันเด็ก พ.ศ.2499 - จอมพล ป.พิบูลสงคราม - จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2502 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2503 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ -  ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2504 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ -  ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2505 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ -  ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2506 - จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ -  ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด

 พ.ศ.2507 - งดการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
วันเด็กแห่งชาติ
วันเด็ก - เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี
 คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2508 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2509 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2510 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงดีมีความประพฤติเรียบร้อย

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2511 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย เฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2512 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2513 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2514 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2515 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2516 - จอมพล ถนอม กิตติขจร - เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2517 - นายสัญญา ธรรมศักดิ์ - สามัคคีคือพลัง

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2518 - นายสัญญา ธรรมศักดิ์ - เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี

คำขวัญวันเด็ก พ.ศ.2519 - หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช - เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดี มีวินัย เสียแต่บัดนี้

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2520 - นายธานินทร์ กรัยวิเชียร - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2521 - พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2522 - พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - เด็กไทยคือหัวใจของชาติ

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2523 - พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ - อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2524 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2525 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2526 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2527 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดีมีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2528 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2529 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2530 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2531 - พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ - นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2532 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2533 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2534 - พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ - รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2535 - นายอานันท์ ปันยารชุน - สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางามคำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2536 - นายชวน หลีกภัย - ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
 
คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2537 - นายชวน หลีกภัย - ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
 
คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2538 - นายชวน หลีกภัย - สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
วันเด็กแห่งชาติ
เด็กเก่งและดี
คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2539 - นายบรรหาร ศิลปอาชา - มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2540 - พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ - รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2541 - นายชวน หลีกภัย - ขยัน  ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2542 - นายชวน หลีกภัย - ขยัน  ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2543 - นายชวน หลีกภัย - มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2544 - นายชวน หลีกภัย - มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2545 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2546 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2547 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร - รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2548 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร  - เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2549 - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร  - อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2550 - พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ - มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2551 - พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ - สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2552 - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2553 - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2554 - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2555 - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร - "สามัคคี มีความรู้ คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี"

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2556 - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร -“รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน”

คำขวัญวันเด็ก  พ.ศ.2557 - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร - "กตัญญู  รู้หน้าที่  เป็นเด็กดี  มีวินัย  สร้างไทย  ให้มั่นคง"

คำขวัญวันเด็ก พ.ศ. 2558  - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา "ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต"



      ขอบคุณแหล่งข้อมูล