วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2557

Technical Room-008 : Dial Gauge-2 (ไดอัลเกจ-นาฬิกาวัด2)

Dial Gauge (นาฬิกาวัด)
การใช้นาฬิกาวัดชนิดมาตรฐานและชนิดคาน
ภาพที่ 8.10 ขาตั้งนาฬิกาวัด
นาฬิกาวัดทั้ง 2 ชนิดไม่สามารถจะใช้ได้เองโดยลำพัง จะต้องจับยึดโดยใช้ขาตั้ง (ภาพที่ 8.10) ซึ่งขาตั้งนาฬิกาวัดมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน คือ ขาตั้งบนราง (ดังภาพ A) เคลื่อนที่วัดความเป็นระนาบ และระดับความขนานได้อย่างสะดวก ขาตั้งฐานเป็นแท่นแม่เหล็ก (ดังภาพ B) ขาตั้งชนิดนี้สามารถติดในแนวดิ่ง แนวนอน และแนวเอียงได้ ถ้าแท่นตั้งเป็นเหล็กสามารถติดตั้งเป็นมุมต่าง ๆ ได้มาก
การใช้นาฬิกาวัดเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานแล้วอ่านความแตกต่างคือวัดความแตกต่างของขนาดระหว่างชิ้นงานที่วัดกับค่ามาตรฐาน ค่ามาตรฐานนั้นมักจะใช้เกจบล็อคเป็นหลักมากที่สุด
ภาพที่ 8.11 การวัดเปรียบเทียบกับเกจบล็อค

จากภาพที่ 8.11a เคลื่อนหัววัดกระทบกับเกจบล็อค
จากภาพที่ 8.11b หมุนแผ่นสเกลให้จุด 0 มาอยู่ที่ปลายเข็มหลังจากหัววัดกระทบกับเกจบล็อค
จากภาพที่ 8.11c ถ้าเข็มหมุนไปทางด้านขวา (ตำแหน่ที่1) ของ 0 ความคลาดเคลื่อนเป็นบวก และถ้าเข็มหมุนไปทางด้านซ้าย (ตำแหน่งที่ 2) ของ 0 ความคลาดเคลื่อนเป็นลบ

การใช้นาฬิกาวัดวัดค่าความราบเรียบ และความขนานแล้วอ่านค่าความแตกต่างคือวัดความราบเรียบของผิว เช่น ความเรียบผิวในแนวราบ ความเรียบผิวในแนวตั้งฉาก โดยให้ชิ้นงาน ที่ถูกวัดอยู่กับโต๊ะงาน (Table) และยึดนาฬิกาวัดติดกับโครงเครื่อง หรือส่วนที่ไม่ได้เคลื่อนที่ไปกับโต๊ะงาน หลังจากนั้นก็หมุนเลื่อนโต๊ะงานไปในทิศทางที่ต้องการวัด และในขณะเดียวกันก็อ่านค่าความแตกต่างที่หน้าปัทม์ของนาฬิกาวัด
ภาพที่ 8.12 การวัดความราบเรียบและความขนาน

การใช้นาฬิกาวัดหาระยะเยื้องศูนย์ของเพลา
การจับงานเข้ากับยันศูนย์ทั้งสอง เสียบด้ามจับของนาฬิกาวัดเข้ากับรูเสียบของแขนจับ ปรับตำแหน่งของเสาตั้งจนหมุดสัมผัสของนาฬิกาวัดอยู่เหนือผิวลูกเบี้ยว หมุนงานให้ผิวเพลาลูกเบี้ยวอยู่ในตำแหน่งต่ำสุดลดแขนวัดลงจนหมุดสัมผัส สัมผัสกับผิวงาน และเข็มหมุนไปประมาณ 1 รอบของหน้าปัทม์ กวดแป้นเกลียวยึดแขนจับนาฬิกาวัดกับเสาตั้งให้แน่น หมุนชิ้นงานใหม่เพื่อหาตำแหน่งต่ำสุดของผิวเพลาลูกเบี้ยว โดยสังเกตจากการกระดิกของเข็ม ค่อยๆ หมุนเพลาลูกเบี้ยวจนผิวเพลาลูกเบี้ยวอยู่ในตำแหน่งสูงสุดโดยสังเกตจากการเคลื่อนที่ของเข็ม ระยะต่างของผิวทั้งสองตำแหน่งทราบได้จากการเคลื่อนที่ของเข็ม เช่น เข็มหมุนไป 5 รอบ แสดงว่าค่าต่างระดับของผิวเท่ากับ 5 มม. หรือเรียกว่า “ช่วงขยับเท่ากับ 5 มม.
สมมุติเพลาลูกเบี้ยวมีระยะเยื้องศูนย์เท่ากับ “e” และช่วงขยับของนาฬิกาวัดเท่ากับ “H”
จากรูป 2e = H
e = H/2
หรือ “ระยะเยื้องศูนย์เท่ากับช่วงขยับหารด้วยสอง"
ภาพที่ 8.13 ช่วงขยับ (H) เมื่อผิวลูกเบี้ยวอยู่ต่ำกว่า (M1) และสูงสุด (M2)

ตัวอย่าง งานเพลาลูกเบี้ยวชิ้นหนึ่งมีช่วงขยับที่เกิดขึ้นเท่ากับ 5.4 มม. จะมีระยะเยื้องศูนย์เท่าใด
จากสูตร e = H/2
e = 5.4 / 2
= 2.2 มม.
งานนี้มีระยะเยื้องศูนย์เท่ากับ 2.2 มม. ตอบ
หมายเหตุ วิธีวัดระยะเยื้องศูนย์ด้วยวิธีนี้มีข้อจำกัดอยู่ 2 ประการ คือ
ประการที่ 1 ระยะที่ต่างกันของผิวเพลาลูกเบี้ยวที่ตำแหน่งต่ำสุดและสูงสุดจะต้องไม่มากกว่าระยะที่แกนวัดของนาฬิกาวัดสามารถเลื่อนที่ขึ้นลงได้
ประการที่ 2 ขนาดความยาวของแท่งยันศูนย์กับชิ้นงาน

การใช้นาฬิกาวัดความเรียวของงานเรียว
คือวัดค่าความแตกต่างของขนาดระหว่างโคนเรียวด้านโต และโคนเรียวด้านเล็กโดยจับยึดชิ้นงาน ที่จะวัดบนเครื่องกลึงด้วยวิธียันศูนย์หัวท้าย และยึดนาฬิกาวัดบนแคร่เลื่อนต่อมาหมุนมือหมุนพาแคร่เลื่อนเคลื่อนที่ไป แล้วอ่านค่า
ภาพที่ 8.13 การวัดความเรียวของงาน

หลักการใช้นาฬิกาวัดทั้งสองชนิดไม่แตกต่างกัน แต่นาฬิกาวัดชนิดคานจะใช้ในกรณีที่นาฬิกาวัดแบบมาตรฐานใช้งานได้ยาก เช่นกรณีของร่องแคบ ๆ
8.1.6 เทคนิคและข้อควรระวังในการใช้นาฬิกาวัด
ควรให้แกนวัดตั้งฉากกับผิวชิ้นงานที่วัด

ภาพที่ 8.14 การวัดผิวงานที่มักเกิดขึ้น
จากภาพที่ 8.14 ก. ไม่ว่าจะมองจากด้านหน้า หรือด้านข้างนั้น จะอยู่ในแนวตั้งฉากเทียบกับผิวที่วัด และช่วงระหว่างขาตั้งกับนาฬิกาวัด จะต้องสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้
จากภาพที่ 8.14 ข. แกนที่อยู่ในแนวเอียงทำให้ไม่สามารถเคลื่อนที่ในแนวแกนได้ตรง แต่จะเอียงไปตามด้านข้างทำให้ได้ค่าวัดที่ไม่ถูกต้อง
แม้แกนวัดจะอยู่ในแนวตั้งฉากกับผิวที่วัด แต่ขาที่ยื่นออกมาของแท่นตั้ง (ขาตั้ง) ยาวเกินไปดังภาพที่ 8.14 ค. จะทำให้นาฬิกาวัดสั่นสะเทือนได้ง่าย เป็นเหตุให้เกิดความผิดพลาดจากการวัดได้

การวัดผิวด้านนอกของชิ้นงานทรงกระบอก

ภาพที่ 8.15 การวัดผิวด้านนอกของชิ้นงานทรงกระบอก
จากภาพที่ 8.15 มีลักษณะเดียวกับการวัดระนาบ จากภาพที่ 8.15 ก. เนื่องจากด้านหน้าและด้านข้างจะต้องให้แกนวัดตั้งฉากกับแกนทรงกระบอกและหัววัดจะต้องแตะอยู่ที่จุดสูงสุดของทรงกระบอก การวัดแนวเอียงดังภาพที่ 8.15 ข.1 และ 8.15 ข.2 หรือพลาดจากจุดสูงสุดของทรงกระบอกดังภาพที่ 8.15 ข.3 จะทำให้ค่าที่วัดได้ไม่ถูกต้อง

การวัดความราบเรียบของผิว
ภาพที่ 8.16 การวัดผิวชิ้นงานในแนวตรงและแนวดิ่ง
จากภาพที่ 8.16 การวัดระดับความราบเรียบสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ หัวสัมผัสควรจะขนานกับผิวของชิ้นงานที่จะวัด กล่าวคือ อยู่ในแนวขนานให้มากที่สุด

8.1.7 การบำรุงรักษานาฬิกาวัด
1. วางหรือเก็บนาฬิกาวัดแยกออกจากเครื่องมือชนิดอื่น และวางบนวัสดุอ่อนนุ่ม
2. จับยึดนาฬิกาวัดให้มั่นคงเพื่อป้องกันการหล่นกระแทก
3. นาฬิกาวัดที่ไม่ใช้งานแล้วจะต้องรีบเก็บเข้าสู่สภาพเดิมทันที เพราะถ้าไม่เก็บเข้าที่แล้วหากหล่นหรือมีของแข็งมากระทบเข้าจะทำให้เกิดการชำรุดหรือเสียหายได้

8.2 คอมพาเรเตอร์ (COMPARATOR)

คอมพาเรเตอร์ เป็นชุดจับจึดนาฬิกาวัดที่มีฐานขนาดใหญ่ ซึ่งทำด้วยเหล็กหล่อหรือหินแกรนิต และเสาลักษณะเป็นเพลาทรงกระบอก ซึ่งสามารถปรับขึ้นลงได้ในแนวดิ่ง ในการวัดขนาดงานจะใช้ร่วมกับนาฬิกาวัดลักษณะการใช้งานใช้สำหรับตรวจสอบเปรียบเทียบขนาดชิ้นงานที่ต้องการวัดจำนวนมาก ๆ ให้ได้ขนาดที่ถูกต้องและรวดเร็ว
ภาพที่ 8.17 คอมพาเรเตอร์ฐานทำด้วยเหล็กหล่อ

รายละเอียดของชุดคอมพาเรเตอร์
1. ทำจากหินแกรนิต มีขนาดความกว้าง x ยาว ไม่น้อยกว่า 160 x 240 มม.
2. ระยะในการวัดได้สูงไม่น้อยกว่า 200 มม.
3. ระยะห่างจากจุดศูนย์กลางการวัดถึงผิวของเสา (COLUM) ไม่น้อยกว่า 100 มม.
4. มีชุดปรับเลื่อนขึ้น – ลง แบบละเอียดไม่น้อยกว่า 12 มม.

8.2.1 ขั้นตอนการใช้คอมพาเรเตอร์
1. นำนาฬิกาวัดมาประกอบเข้ากับชุดจับยึดนาฬิกาวัด
ภาพที่ 8.19 การประกอบนาฬิกาวัดกับชุดจับยึดนาฬิกาวัด
2. นำเกจบล๊อก ที่มีขนาดเท่ากับชิ้นงาน มาตั้งที่นาฬิกาวัดแล้วปรับนาฬิกาวัดให้เท่ากับศูนย์ (0) กำหนดพิกัดความเผื่อโตสุด และเล็กสุด ขึ้นอยู่กับขนาดความต้องการของผู้ใช้งานจากนั้นนำเกจบล๊อกออก
ภาพที่ 8.20 การใช้คอมพาเรเตอร์ตรวจสอบขนาดงาน
3. นำชิ้นงานที่ต้องการวัดมาวางที่ชุดนาฬิกาวัดเพื่อวัดค่าถ้าตัวเลขที่หน้าปัดนาฬิกาวัดแสดงค่าอยู่ในพิกัดความเผื่อที่ตั้งไว้ แสดงว่าชิ้นงานนั้นขนาดถูกต้อง
ภาพที่ 8.21 การใช้คอมพาเรเตอร์วัดขนาดงาน

8.2.2 ข้อควรระวังในการใช้คอมพาเรเตอร์วัดงาน
หลังจากตั้งขนาดพิกัดความเผื่อของนาฬิกาวัดของชิ้นงานได้ตามต้องการแล้ว เมื่อจะนำชิ้นงานเข้ามาวัดขนาดควรยกแกนวัดของนาฬิกาวัดขึ้นก่อน ไม่ควรใช้ชิ้นงานดันแกนวัดให้ยกขึ้น เพราะอาจจะทำให้ปลายแกนวัดสึกหรอ หรือชำรุดได้
ที่มาจาก: http://www.bpcd.net/new_subject/industry/yungyut/metrology%20subject/unit%208/knowledge%20sheet.pdf

สนใจผลิตภัณฑ์ของเรา เชิญแวะชมเว็บ www.tonanasia.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น