วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559

“โรคไมเกรน” ช่วงหน้าร้อน



รับมือ “โรคไมเกรน” ช่วงหน้าร้อน

อาการปวดศีรษะข้างเดียว หรือที่รู้จักกันในชื่อโรค  “ไมเกรน” นั้น เป็นโรคที่คนวัยทำงานป่วยเป็นมากที่สุด ซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัย
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคปวดศีรษะไมเกรนมักพบบ่อยในเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความสูญเสียคุณภาพชีวิตและสมรรถนะภาพในการทำงานของคนวัยนี้ลักษณะอาการปวดศีรษะไมเกรนจะปวดแบบตุ๊บๆ บริเวณที่มีหลอดเลือดขนาดใหญ่ เช่น บริเวณขมับและท้ายทอย ระดับการปวดอาจรุนแรงปานกลางถึงมากจนไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันตามปกติได้
ทั้งนี้ ผู้ป่วยประมาณ 60% จะปวดศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง อีกประมาณ 35% จะปวดศีรษะสลับข้างไปมา ส่วนที่เหลือจะปวดศีรษะทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย นอกจากนี้ตาจะสู้แสงไม่ได้และไม่ชอบเสียงดัง อาการปวดจะแย่ลงเมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือทำกิจกรรมต่างๆ และเมื่อนอนพักอาการก็จะดีขึ้น หากไม่ได้รักษาอาการปวดจะอยู่นาน 4-72 ชั่วโมง ความถี่ของอาการอาจเป็นได้หลายครั้งต่อเดือนหรือปีละ 1-2 ครั้ง
โรคปวดศีรษะไมเกรนแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ แบบมีอาการเตือนจะเกิดขึ้นช่วงก่อนหรือหลังปวดไม่เกิน 1 ชั่วโมง นาน 15-30 นาที โดยมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเช่น เห็นแสงวูบวาบ ซิกแซก หรือเงามืดขยายวงที่มุมหนึ่งของลานสายตา เจ็บหรือเหน็บชาร่างกายครึ่งซีก พูดผิดปกติและอ่อนแรงร่างกายครึ่งซีก ส่วนในเด็กอาการปวดศีรษะอาจไม่ชัดเจนแต่จะมีอาการนำ เช่น อาเจียนหรือปวดท้องติดต่อกันโดยไม่มีสาเหตุอื่น และแบบไม่มีอาการเตือนจะพบมากประมาณ 85%
สาเหตุของโรคปวดศีรษะไมเกรนคือ มีการกระตุ้นต่อเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งทำหน้าที่รับความรู้สึกที่บริเวณเยื่อหุ้มสมองและหลอดเลือดใหญ่ภายในกะโหลกหลั่งสารเคมีต่างๆ ไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง ส่งผลให้หลอดเลือดใหญ่ที่ติดกับเยื่อหุ้มสมองขยายตัวและทำให้เกิดอาการปวดขึ้นมา ไมเกรนเป็นโรคเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาการของโรคอาจรุนแรงขึ้นจนทำให้ต้องใช้ยาแก้ปวดมากเกินขนาด
โดยธรรมชาติของโรคอาการจะดีขึ้นหลังวัยหมดระดู การรักษาในรายที่มีอาการไม่บ่อย (น้อยกว่า 2 ครั้งต่อเดือน) อาจรับประทานยาแก้ปวดเป็นครั้งคราว ส่วนผู้ที่มีอาการปวดนานเกิน 72 ชั่วโมง ปวดศีรษะไมเกรนครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 55 ปี หรือขณะตั้งครรภ์ มีอาการปวดมากกว่า 2 ครั้งต่อเดือน และมีอาการปวดร่วมกับมีไข้ ผื่นผิวหนัง คอแข็ง ชัก กระตุก ซึมลง ตามัว เห็นภาพซ้อน แขนขาอ่อนแรง ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นอาการปวดศีรษะไมเกรน ได้แก่ การอดนอน การทำงานหนักเกินไป การอดอาหารหรือรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เล่นกีฬาที่หักโหมเกินไป อากาศร้อน/เย็นจัดมองแสงจ้า เสียงดัง กลิ่นน้ำหอมบางชนิด กลิ่นสารเคมีบางอย่าง อาหารประเภทฟาสฟู้ด ชีส เนยแข็ง ไส้กรอก ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ สารแทนความหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ควรฝึกผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน การเรียน หากมีอาการปวดใช้น้ำแข็งประคบที่ศีรษะเพื่อบรรเทาอาการ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ หรือนวดด้วยกลิ่นหอมจะช่วยให้ผ่อนคลายจากการปวดไมเกรนได้

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น