วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ภัยร้ายใกล้ตัว! คนเสพติดเทคโนโลยี

ทำความรู้จัก 'แสงน้ำเงิน' ภัยร้ายใกล้ตัว! คนเสพติดเทคโนโลยี

แสงสีฟ้า

ทำความรู้จักกับ "แสงฟ้า" หรือ "แสงน้ำเงิน" สีที่ก่ออันตรายสูงสุดแก่ดวงตา แพทย์แนะตรวจเช็กดวงตาปีละหน ป้องกันอาการเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น จากการใช้สายตา…
หลายคนอาจจะคุ้นหูมาบ้างแล้ว กับคำว่า "แสงสีฟ้า" หรือ "แสงสีน้ำเงิน" แต่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้จักว่าเจ้าแสงสีฟ้านี้คืออะไร? เป็นแสงที่ดี มีประโยชน์ มีโทษภัยอะไรหรือไม่ แล้วมันมีอยู่ที่ไหน ในอุปกรณ์ประเภทใด วันนี้ เราจึงนำคำตอบมาให้คุณ จากคำอธิบายของแพทย์ผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญ เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพดวงตาของทุกท่าน

แสงสีฟ้า
ในยุคที่สมาร์ทโฟนกลายเป็นวัตถุคู่กาย

"แสงสีน้ำเงินเป็นหนึ่งในแสงที่สามารถทะลุทะลวงได้ถึงจอประสาทตา เรียกว่ามีพลังทำลายกระจกตาหรือจอประสาทตาได้มากกว่าแสงสีอื่น" นาวาอากาศโท นายแพทย์อนุวัตร จิตต์จรัส จักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตาและรักษาสายตา โรงพยาบาลเวชธานี กล่าว พร้อมอธิบายต่อไปว่า แสงที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันนี้แบ่งออกได้ทั้งหมดเป็น 7 สี (สีแดง ม่วง ส้ม เหลือง น้ำเงิน คราม และเขียว) แสงสีน้ำเงินเป็นสีที่ให้ความสว่างมากที่สุด ขณะเดียวกันก็ทำให้ดวงตาเป็นอันตรายได้มากที่สุดด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าสีอื่นๆ จะปลอดภัยต่อดวงตา ต้องเรียกว่าทุกสีสามารถทำลายจอประสาทตาได้ทั้งหมด!
ทุกแสงก่ออันตราย!
นอกจากนี้ จักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตาและรักษาสายตา โรงพยาบาลเวชธานี ยังอธิบายอีกว่า ผลจากการวิจัยระบุว่าความสว่างมากๆ จะทำให้ดวงตาล้าได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่นความสว่างสูงที่เราใช้งานอยู่เป็นเวลานานก็จะมีผลให้เรารู้สึกล้าดวงตาได้ง่าย แต่หากหรี่แสงให้ความสว่างลดลงมากๆ ดวงตาก็จะต้องเพ่งมองหนักขึ้น และอาจทำให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน หากใช้งานอยู่กับแสงนั้นเป็นเวลานาน

แสงสีฟ้า
ชีวิตยุคดิจิตอลที่อยู่บนการกดจิ้มและสไลด์

แสงน้ำเงินอยู่รอบตัวคุณ!
แสงประเภทดังกล่าวก็มีอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้งานในชีวิตประจำวัน ทั้งคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โทรทัศน์ รวมถึงอาชีพที่ต้องใช้แสง เช่น การเชื่อมเหล็ก เป่าแก้ว หรือผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้อุปกรณ์ให้แสงสีน้ำเงินในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น เล่นสมาร์ทโฟนในที่มืด ปิดไฟดูโทรทัศน์ ก็ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงภัยจากแสงสีน้ำเงินทั้งสิ้น 
อุปกรณ์ป้องกันแสงน้ำเงิน จำเป็น(จริงหรือ)?
ปัจจุบันมีสินค้าที่โฆษณาว่าสามารถป้องกันแสงสีฟ้า หรือสีน้ำเงินได้ วางจำหน่ายในตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งแว่นตา จอกรองแสง หรือแผ่นฟิล์ม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสินค้าเหล่านั้นอาจมีคุณสมบัติป้องกันแสงสีน้ำเงินได้จริง หรือไม่จริงก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือแสงที่เห็นนั้นไม่ได้มีเพียงแสงสีน้ำเงิน ทุกสีสามารถทำอันตรายต่อดวงตาได้ทั้งหมด การเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันแสงนั้นอาจเป็นเพียงตัวช่วยหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปรับพฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ในระยะเวลาที่เหมาะสม รู้จักพักสายตา และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ขณะเดียวกันก็อาจจะเลือกใช้สินค้าที่มีโหมดปรับลดอุณหภูมิสี หรือปรับความสว่างภาพได้ตามความเหมาะสมที่ผู้ใช้สามารถใช้งานได้อย่างสบายตา ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะมีโหมดสีเพื่อความสบายตาสำหรับให้ผู้ใช้เลือกใช้งานด้วย

แสงสีฟ้า
ทุกอิริยาบถต้องมีมือถือเข้ามาเกี่ยวข้อง

อันตรายแสงน้ำเงิน ทำลายได้ถึงจอประสาทตา
หากมีพฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์ที่ให้แสงสีน้ำเงินสูง ทำงานในอุตสาหกรรมที่มีการใช้แสง หรือจ้องมองดวงอาทิตย์เป็นเวลานานอยู่บ่อยครั้ง ก็อาจเสี่ยงต่ออาการต่างๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับจอรับภาพ กระจกตา เลนส์ตา หรือจอประสาทตา ด้วยอาการจอประสาทตาเสียหายหรือเกิดการไหม้ กระจกตาถลอก ปวดตาเรื้อรัง น้ำตาไหลตลอดเวลา ปวดกระบอกตา หรือร้ายแรงมากๆ ก็คือ มีรูทะลุที่จอประสาทตา หรือจนกระทั่งลืมตาไม่ขึ้น 
เช็กอาการเสี่ยง! ภัยดวงตา
อาการเบื้องต้นที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าดวงตาของคุณอาจกำลังเกิดอาการผิดปกติ ได้แก่ อาการล้าบริเวรณดวงตา ปวดตาหรือเบ้าตา หรือแพ้แสง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากหลายปัจจัย อาทิ น้ำตาแห้ง สายตาสั้นมากหรือเอียงมาก ใช้สายตามากเกินไป มีความดันตาสูงผิดปกติ กำลังจะเกิดโรคต้อหิน หรือกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง และหากเกิดอาการเห็นจุดดำตรงกลางสายตา ตาพร่ามัว หรือมองภาพตรงกลางไม่ชัด ก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาหรือรักษาโดยทันที เพราะนั่นอาจหมายถึงสัญญาณว่าคุณมีอาการวุ้นในตาเสื่อมหรือจอประสาทตาเขยื้อน

แสงสีฟ้า
การใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ก็ส่งผลเสียต่อดวงตา

ไม่ใช่เรื่องยาก! ดูแลสุขภาพตา
การดูแลสุขภาพตานั้นสามารถทำได้ง่ายๆ แบ่งเป็น 3 ปัจจัย คือ การดูแลตนเอง การใส่ใจสภาพแวดล้อม และเลือกใช้สินค้าที่มีคุณภาพ สำหรับการดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ ควรใส่ใจตรวจสอบดวงตาของตนว่าเกิดอาการผิดปกติหรือไม่ เช่น ตาแห้งง่าย ไม่ควรใช้งานสายตาเป็นเวลานานติดต่อกัน หากจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือทำงานกับแสงจ้าเป็นเวลานาน ก็ควรพักสายตาทุก 30-45 นาที นอกจากนี้ยังควรเลือกใช้สินค้าที่มีคุณภาพหรือได้มาตรฐานการรับรองหน้าจอ ซึ่งผู้บริโภคควรสอบถามรายละเอียดดังกล่าวจากพนักงานขาย เพื่อเป็นความปลอดภัยเบื้องต้นว่าเราในฐานะผู้ใช้จะไม่ได้รับอันตรายจากแสงของหน้าจอที่ไม่ได้มาตรฐาน

3 วิธีปฐมพยาบาลดวงตา เบื้องต้น
หากคุณต้องพบกับแสงหรือใช้งานอุปกรณ์ที่มีแสงเป็นเวลานาน คุณสามารถลดการใช้สายตาได้ ดังนี้
1.พักสายตาด้วยการหลับตา หรือกะพริบตาซักครู่
2.มองออกนอกหน้าต่าง ละจากอุปกรณ์ที่ให้แสง และมองไปที่พื้นที่สีเขียวซักพัก
3.หากคุณต้องอยู่ในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศตลอดเวลา อาจทำให้ตาแห้งได้ง่ายกว่าปกติ ลองนำน้ำใส่ถ้วย แก้ว หรือถัง เลือกภาชนะตามใจชอบ แล้ววางตั้งไว้ภายในห้อง ก็จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาคู่สวยได้ไม่ยาก
บำรุงดวงตาง่ายนิดเดียว
วิธีการบำรุงดวงตานั้นสามารถทำได้ง่ายด้วยตนเอง โดย…
1.ดื่มน้ำเปล่าให้มาก เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา
2.รับประทานอาหารมีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อดวงตา อาทิ ส้ม ฝรั่ง ฟักทอง มะละกอ
3.อาหารเสริมที่มีวิตามินก็สามารถเลือกบริโภคได้ แต่หากคุณมั่นใจว่าได้รับวิตามินครบถ้วนสม่ำเสมอจากการบริโภคอาหารที่ดี อาหารเสริมก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น
4.จัดวิตามินเสริมให้ร่างกายก็เป็นเรื่องดี แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าไม่ควรเลือกวิตามินรวม เพราะไม่สามารถวัดผลได้ว่าร่างกายของคุณขาดวิตามินใด และวิตามินรวมนั้นใช่วิตามินประเภทที่ร่างกายของคุณต้องการหรือไม่ ซึ่งการบริโภควิตามินรวมอาจส่งผลให้ร่างกายของคุณมีวิตามินบางตัวน้อยเกินไป หรือบางตัวมากเกินจำเป็น

แสงสีฟ้า
โซเชียลมีเดียกลายเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้คนเสพติดการใช้สมาร์ทโฟน

นอกจากนี้ จักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตาและรักษาสายตา ยังแนะนำว่า "การป้องกันนั่นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด การดูแลรักษานั้นหมายถึงเกิดอาการผิดปกติแล้ว ร่างกายเกิดความเสียหายแล้วจึงต้องทำการรักษา ซึ่งไม่ควรรอให้อยู่ในขั้นนั้น อย่างไรก็ตาม การตรวจเช็กดวงตาก็เป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่ทุกคนควรทำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งมีบริการตรวจเช็กทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน"

เมื่อรู้ซึ้งแล้วทั้งโทษภัยและวิธีป้องกัน-ดูแล... อยากมีชีวิตดีปราศจากโรคภัย ก็ต้องรู้จักถนอมสุขภาพ ใช้งานร่างกายให้ถูกวิธี จะได้มีอายุยืนยาว เป็นคนชราอย่างมีคุณภาพ!
 แหล่งที่มา :
ไทยรัฐออนไลน์

                                                                                                                                       ขอบคุณที่มา 
http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/general_knowledge/18627

เรียบเรียงโดยSJ(Tonan Asia Autotech)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น